บทความเรื่อง “บทบาทด้านการบริหารของพระพุทธเจ้า”
*************************
พระมหาธานินทร์ อาทิตวโร
ป.ธ.๘, พธ.บ., พธ.ม., พธ.ด. (พระพุทธศาสนา)
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น
๑. บทนำ
ในโลกปัจจุบันซึ่งเป็นโลกของการสื่อสารแบบออนไลน์ การบริหารในครอบครัวหรือในองค์กรต่างๆ จึงสามารถทำได้หลายวิธีไม่จำเป็นต้องเข้าไปสำนักงานก็สามารถบริหารสั่งการได้ ด้วยวิธีโทรศัพท์บ้าง ส่งเอกสารสั่งงานบ้าง ส่งข้อความขนาดสั้น หรือ (message) บ้าง ใช้ระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์บ้าง แล้วแต่ว่า ใครจะสะดวกแบบไหนหรือว่าระบบไหนจะเหมาะกับองค์กรนั้นๆ หลักการบริหารงานก็มีหลายรูปแบบทั้งที่เป็นหลักการบริหารตามทฤษฎีของตะวันตกและตามหลักทฤษฎีตามหลักตะวันออก โดยเฉพาะตามหลักพระพุทธศาสนา นักบริหารในโลกนี้คงไม่มีใครยิ่งไปกว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ได้รับยกย่องว่า เป็นศาสดาเอกของโลก เป็นครูยิ่งกว่าครู เป็นพรหมยิ่งกว่าพรหม เป็นเทพยิ่งกว่าหมู่เทพทั้งหลาย พระองค์มีบทบาทหลายด้าน เช่น ด้านการเผยแผ่พระสัทธธรรมคำสอนแก่เวไนยสัตว์ ด้านการบริหารสาวก ทั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์อย่างยอดเยี่ยม ทำให้องค์กรที่เรียกว่า พระพุทธศาสนา สามารถดำรงอยู่ได้จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา ๒,๖๐๐ ปีแล้ว ในบทความนี้ผู้เขียนจะศึกษาบทบาทด้านการบริหารของพระพุทธองค์ว่า พระองค์มีหลักการบริหารศาสนบุคคลและศาสนธรรมอย่างไรจึงทำให้คำสอนของพระองค์อยู่มาตลอดจนถึงปัจจุบัน
๒. ความหมายของการบริหาร
คำว่า บริหาร ตรงกับภาษาบาลีว่า “ปริหร” แปลตามศัพท์ว่า การนำไปรอบ ไทยนำมาใช้ในความหมายว่า การบริหาร ตามรูปศัพท์ หมายถึง การปกครอง การนำสังคมหรือนำหมู่คณะให้พัฒนาไปพร้อมกัน อีกนัยหนึ่ง คำว่า “ปริหร” หมายถึง การแบ่งงาน การกระจายอำนาจ หรือการที่สมาชิกในสังคมมีส่วนร่วมในการปกครองหมู่คณะ เช่นที่ปรากฏพระไตรปิฎกว่า “อหํ ภิกฺขุสงฺฆํ ปริหริสฺสามิ” เราจักปกครองภิกษุสงฆ์ หรือ เราจักบริหารคณะสงฆ์ เป็นต้น[๑]
๓. บทบาทด้านการบริหารของพระพุทธเจ้า
๑) บริหารเพื่อปัจเจกบุคคลและสังคม
การบริหารงานของพระพุทธองค์มุ่งประโยชน์แก่ปัจเจกบุคคลและสังคมเป็นหลัก การบริหารเพื่อปัจเจกบุคคลพระองค์ทรงวางหลักไว้เรียกว่าพระวินัยซึ่งเป็นหลักการเพื่อการปรับพฤติกรรมของสาวกที่มาจากหลากหลายสังคมให้มีแนวทางการปฏิบัติแบบเดียวกันเพื่อจะง่ายต่อการบริหารจัดการให้อยู่ด้วยกันอย่างเรียบร้อยเป็นที่น่าเลื่อมใสแก่ผู้ที่พบเห็น และเพื่อประโยชน์สูงสุดของสาวกเอง เช่น พระองค์ทรงวางหลักให้เคารพกันตามอาวุโส คือ นับถือกันตามพรรษา ใครเข้ามาสู่พระธรรมวินัยนี้ก่อนให้ถือว่าผู้นั้นอาวุโสกว่า แม้ว่าจะอายุน้อยกว่าก็ตาม ให้ผู้เข้ามาทีหลังกราบไหว้ ลุกรับผู้เข้ามาก่อน ทรงวางหลักให้ละทิ้งวรรณะเดิมของตนซึ่งเป็นข้อบัญญัติที่ไม่เป็นธรรมเป็นการแบ่งแยกมนุษย์ให้แตกแยกกันตามหลักของศาสนาพราหมณ์เดิมหรือศาสนาฮินดูในปัจจุบัน ผู้ที่เข้ามาบวชเป็นภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรีแล้ว ถือว่ามีวรรณะเสมอกัน เปรียบเหมือนมหาสมุทร อันเป็นที่รองรับสายน้ำที่ไหลมาจากทิศต่างๆ เมื่อลงสู่มหาสมุทรแล้วย่อมเป็นรสเดียวกันหมด
ตัวอย่างการบริหารเพื่อปัจเจกบุคคล เช่น ทรงบัญญัติสิกขาบทและธรรมเนียมปฏิบัติต่อกันและกันอาทิ ทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ห้ามไม่ให้ขโมยสิ่งของของคนอื่นที่เจ้าของไม่ได้ให้ วัตถุประสงค์เพื่อให้สาวกที่อยู่ร่วมกันไม่ต้องระแวงต่อกันและกัน จะทำให้เกิดความมั่นใจในความปลอดภัยในทรัพย์สินของตน เมื่อไม่มีความระแวงแล้วจะทำให้การบำเพ็ญสมณธรรมเป็นไปด้วยความสะดวกไม่มีความกังวลเกี่ยวกับทรัพย์สิน
ตัวอย่างการบริหารเพื่อสังคม เช่น ทรงวางธรรมเนียมปฏิบัติต่อกันระหว่างภิกษุผู้มีวุฒิภาวะเสมอกัน อาทิ ทรงวางหลักสาราณียธรรม ๖ ประการ[๒] ไว้ เพื่อให้สาวกอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและเจริญก้าวหน้าในการบำเพ็ญสมณธรรมในขั้นสูง ทรงวางหลักอุปัชฌายวัตร สัทธิวิหาริกวัตร อาจริยวัตร และอันเตวาสิกวัตร[๓] เพื่อให้พระอุปัชฌาย์และสัทธิวิหาริก อาจารย์และอันเตวาสิก ปฏิบัติต่อกันอย่างเหมาะสม เช่น ห้ามไม่ให้ภิกษุมีพรรษาหย่อนกว่า ๕ พรรษา จาริกไปที่อื่นโดยปราศจากครูอาจารย์ การทรงวางวัตรเหล่านี้ไว้สามารถวิเคราะห์ได้ว่าเป็นการป้องกันความประพฤติอันจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่พระศาสนาและหมู่คณะและตัวของภิกษุเอง เพราะภิกษุผู้ที่มีพรรษายังไม่ถึง ๕ พรรษาถือว่ายังมีการศึกษาข้อวัตรปฏิบัติน้อยอยู่ ยังไม่สามารถที่จะดูแลตัวเองได้ และไม่สามารถจะแนะนำคนอื่นได้ด้วย ทรงวางหลักอปริหานิธรรม ๗ ประการ (ธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม ธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญฝ่ายเดียว) ได้แก่ ๑) หมั่นประชุมกัน ๒) พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจของสงฆ์ที่พึงกระทำ ๓) ไม่บัญญัติสิ่งที่พระองค์ไม่ทรงบัญญัติไว้ ไม่เพิกถอนสิ่งที่พระองค์บัญญัติไว้ สมาทานศึกษาในสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้ ๔) ให้ความเคารพ นับถือ บูชาพระเถระผู้มีพรรษายุกาลมาก ให้เชื่อฟังคำสอนของท่าน ๕) ไม่ตกไปอยู่อำนาจของตัณหาที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเหตุนำไปสู่การเกิดในภพใหม่ ๖) ยินดีในการอยู่ป่า ๗) ให้ตั้งความปรารถนาไว้ว่า เพื่อนสหพรหมจารีผู้มีศีลาจารวัตรงดงามที่ยังไม่มาสู่อาวาสขอให้มาที่มาแล้วขอให้อยู่เป็นสุข[๔] หลักการนี้สามารถวิเคราะห์ได้ว่า เป็นการวางไว้เพื่อให้ภิกษุมีความสามัคคีกันพร้อมเพรียงกันในการทำกิจของสงฆ์ เป็นการทำให้สงฆ์ตรวจสอบกันและกัน เพราะการประชุมกันบ่อยๆ เป็นบ่อเกิดของความร่วมมือต่อกันและกัน เมื่อได้ทำกิจกรรมร่วมกันบ่อยๆ จะมีความเห็นอกเห็นใจกันและกัน อันจะนำไปสู่ความรัก ความเมตตาต่อกัน การให้ความเคารพต่อผู้ใหญ่เป็นการแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน และความกตัญญูกตเวที การตั้งความปรารถนาไว้ว่า ขอให้พระอรหันต์หรือพระสุปฏิปันโน มาสู่แว่นแคว้นของตน เป็นการแสดงออกถึงความมีศรัทธา มีใจเอื้อเฟื้อ เพราะถ้าได้ท่านผู้มีศีลมีธรรมขั้นสูงมาอยู่ด้วยจะได้อาศัยท่านเหล่านั้น อบรมสั่งสอนลูกหลานให้เป็นคนดี เมื่อเขาเจริญเติบโตขึ้นก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่ดี สามารถช่วยพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
การที่พระพุทธองค์ทรงวางหลักเหล่านี้ไว้ให้สาวกประพฤติตามเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของหมู่คณะและเพื่อบรรลุประโยชน์สูงสุดของการประพฤติพรหมจรรย์คือ การบรรลุ มรรค ผล นิพพาน หรือเพื่อประโยชน์ ๓ อย่าง คือ ประโยชน์ตนเอง ประโยชน์คนอื่น และประโยชน์ทั้งสองฝ่าย[๕]
๒) บริหารตามหลักคำสอน
ตอนตรัสรู้ใหม่ๆ พระองค์ไม่มีกฏเกณฑ์อะไรมากมายในการรับสมาชิก เมื่อเห็นว่า มีผู้สนใจที่จะศึกษาตามหลักคำสอนที่พระองค์ได้ตรัสรู้พระองค์ก็รับเข้าเป็นสมาชิกด้วยการเปล่งพระวาจาว่า ท่านจงเป็นภิกษุ มาเถิด หรือแปลให้ง่ายก็คือ ท่านจงมาเป็นภิกษุเถิด เพียงเท่านี้ก็ถือว่าสำเร็จกิจของการเป็นภิกษุ เพราะในตอนแรกๆ นั้น ผู้ที่เข้ามาล้วนแต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ ความหลุดพ้นจากกิเลส อาสวะ เมื่อกาลเวลาผ่านไปมีสาวกเพิ่มขึ้นพระองค์ไม่สามารถจะดูแลทั่วถึง จึงทรงวางหลักการฝึกฝนอบรมปัจเจกบุคคลและสังคม ด้วยหลักธุระ ๒ อย่างคือ คันถธุระ การศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม และวิปัสสนาธุระ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อให้เกิดปัญญา ที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลาย[๖] การที่พระองค์วางหลักการไว้อย่างนี้ทำให้การบริหารกิจการคณะสงฆ์สาวกเป็นไปอย่างเรียบร้อย เพราะเป็นเงื่อนไขของการรับคนภายนอกเข้ามาสู่องค์กร ถ้าผู้ที่จะเข้ามาสู่องค์กรนี้ต้องยอมรับและปฏิบัติตามหลักดังกล่าวนี้จึงจะอนุญาตให้เข้ามาได้ ถ้าไม่ยอมรับก็ไม่อนุญาต หลักนี้เป็นการกลั่นกรองบุคคลโดยไม่ต้องมีเงื่อนไขต่อรองใดๆ นอกจากนี้ยังเป็นยังเป็นแนวทางในการฝึกฝนอบรมตนของสมาชิกในองค์กรทุกคน ไม่มีข้อยกเว้น
นอกจากหลักการใหญ่ทั้งสองนี้ พระองค์ยังวางหลักย่อยอีกมากมายเพื่อให้เหมาะกับกลุ่มบุคคลและกาลเวลา เช่น ทรงเลือกคำสอนที่เหมาะกับผู้ฟังเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ฟัง อาทิ ทรงเลือกแสดงอริยสัจสี่[๗] แก่พวกปัญจวัคคีย์ เพราะอริยสัจสี่เป็นหลักธรรมลึกซึ้งเหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญญาแก่กล้าได้ศึกษาหรือแสวงทางพ้นทุกข์มาพอสมควรแล้วจึงจะเข้าใจได้ การเลือกแสดงอริยสัจสี่แก่พวกปัญจวัคคีย์ทำให้พระองค์ยืนยันความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพระองค์ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะถ้าพระองค์แสดงแล้วไม่มีใครเข้าใจและไม่ได้บรรลุธรรมตาม การตรัสรู้ของพระองค์ก็จะเป็นเพียงปัจเจกโพธิญาณเท่านั้น ในเวลาใกล้เคียงกันนั้นพระองค์ได้แสดงอนุปุพพีกถา[๘]แก่ยสกุลบุตรและครอบครัว ทำให้ยสกุลบุตรและครอบครัวได้บรรลุธรรมตาม สาเหตุที่พระองค์แสดงอนุปุพพีกถาแก่ยสกุลบุตรและครอบครัวเพราะว่า อนุปุพพีกถาเป็นหลักการที่เข้าใจง่าย เหมาะสำหรับฆรวาสที่อยู่ครองเรือนอย่างยสกุลบุตรและครอบครัว ทรงแสดงหลักสังคหวัตถุซึ่งเป็นหลักการครองใจมิตรแก่คฤหัสถ์[๑๐] ทรงแสดงหลักสาราณียธรรม ๖ ประการแก่ภิกษุ[๑๑] ทรงแสดงหลักสัปปุริสธรรม ๗ ประการไว้แก่บรรพชิตและคฤหัสถ์[๑๒]
๓) บริหารตามกาลเวลาที่เหมาะสม
ตอนตรัสรู้ใหม่ๆ พระองค์ทรงยับยั้งเสวยวิมุตติสุขอยู่ในบริเวณต้นโพธิ์ที่ตรัสรู้เป็นเวลาหลายสัปดาห์[๑๓] ในระหว่างนี้พระองค์ได้พิจารณาหลักธรรมที่พระองค์ได้บรรลุว่าเป็นธรรมลึกซึ้งมากยากแก่การเข้าใจแก่บุคคลทั่วไป จนพระองค์ถอดใจที่จะสั่งสอนคนอื่น จนท้าวสหัมบดีพรหมทราบความดำริของพระองค์แล้วลงมาอาราธนาให้พระองค์แสดงธรรมแก่เวไนยสัตว์ด้วยเหตุผลว่า สัตว์ผู้มีธุลี (กิเลส) น้อยมีอยู่ ซึ่งสัตว์เหล่านี้เมื่อได้ฟังธรรมแล้วจะได้บรรลุธรรม ถ้าไม่ได้ฟังธรรมก็จะเสียโอกาส การที่ทรงยับยั้งอยู่นั้น ทำให้ตีความได้ว่าพระองค์ทรงรอเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเผยแผ่พระสัทธธรรมสู่เวไนยสัตว์ และเมื่อรับคำอาราธนาของท้าวสหัมบดีพรหมแล้วว่าจะแสดงธรรมแก่เวไนยสัตว์ ก็ทรงรอเวลาในการออกเดินทางมุ่งสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสีเพื่อแสดงพระธรรมเทศนาแก่พวกปัญจวัคคีย์โดยตัดสินพระทัยออกเดินทางไปให้ถึงที่นั่นให้ตรงกับวันเพ็ญเดือนอาสาฬหมาส หรือวันเพ็ญเดือน ๘ หลังจากแสดงพระธัมมจักกัปปวัตนสูตร[๑๔] แก่พวกปัญจวัคคีย์จนทำให้พระโกญฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมคือได้บรรลุโสดาบันแล้ว ต่อจากนั้นพระองค์ทรงรออยู่เป็นเวลาหลายวัน เพื่อให้ปัญญาของปัญจวัคคีย์ที่เหลือแก่กล้าพอที่จะรู้และเข้าใจเกี่ยวกับความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตนอย่างแท้จริงของขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อทรงเห็นว่าพวกปัญจวัคคีย์มีสติปัญญาพร้อมที่จะเข้าใจแล้ว จึงแสดงอนัตตลักขณสูตร สูตรว่าด้วยขันธ์ ๕[๑๕] แก่พวกปัญจวัคคีย์ เมื่อจบพระธรรมเทศนา พวกปัญจวัคคีย์ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด
หลังจากที่พระองค์ส่งพระสาวกจำนวน ๖๐ รูปออกไปเผยแผ่พระศาสนาแล้ว พระองค์เองเสด็จไปที่อุรุเวลาเสนานิคมเพื่อโปรดพวกชฎิลสามพี่น้อง นำโดยอุรุเวลกัสสปะ ที่ถือบวชในลัทธิบูชาไฟ พระองค์ใช้เวลาทรมานอุรุเวลกัสสปะอยู่เป็นเวลานาน ด้วยวิธีแสดงอิทธิฤทธิ์ต่างๆ ให้ดู อุรุเวลกัสสปะก็พอใจและยอมรับว่าพระองค์เป็นผู้วิเศษคนหนึ่ง แต่ยังไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนกับตน ความคิดของอุรุเวลกัสสปะไม่ใช่ว่าพระพุทธองค์จะไม่ทรงรับรู้แต่ทรงรอเวลาที่เหมาะสมก่อน เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมแล้วพระองค์จึงตรัสความจริงกับอุรุเวลกัสสปะว่า เขายังไม่เป็นพระอรหันต์หรอก อย่าว่าแต่เป็นพระอรหันต์แม้แต่ธรรมเป็นเครื่องนำไปสู่ความเป็นพระอรหันต์ ก็ยังไม่รู้ พอพระองค์ตรัสอย่างนี้ทำให้อุรุเวลกัสสปะได้สติแล้วยอมลดตัวลงเป็นสาวกของพระองค์ พระองค์จึงแสดงอาทิตตปริยายสูตร อันเป็นพระสูตรว่าด้วยเรื่องไฟ ๓ กอง ได้แก่ ไฟคือราคะ ความกำหนัดยินดีในกามคุณ ไฟคือโทสะ ความโกรธ ความขัดเคืองในใจ ไฟคือโมหะ ความหลง ไม่รู้ธรรมชาติของชีวิตตามความเป็นจริง[๑๖] ผลจากการแสดงพระธรรมเทศนาครั้งนี้ทำให้พระองค์ได้สาวกเพิ่มขึ้นอีก ๑,๐๐๓ รูป คือ อุรุเวลกัสสปะกับลูกศิษย์ จำนวน ๕๐๐ รูป นทีกัสสปะ และลูกศิษย์จำนวน ๓๐๐ รูป และคยากัสสปะและลูกศิษย์จำนวน ๒๐๐ รูป
อีกตัวอย่างหนึ่ง ทรงใช้อุบายให้นางกีสาโคตรมี[๑๗] ที่ได้รับความเศร้าโศกเพราะบุตรน้อยเสียชีวิต แต่นางไม่ยอมรับว่า ลูกน้อยเสียชีวิตพยายามอุ้มศพลูกแสวงหาหมอรักษา จนได้พบกับบุรุษคนหนึ่ง บุรุษคนนั้นเกิดความสงสารแนะนำให้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยบอกว่า พระพุทธองค์ทรงรู้จักยารักษาลูกน้อยของนาง พระองค์ไม่ได้ตรัสบอกตรงๆ ว่า ลูกน้อยของนางเสียชีวิตแล้วไม่สามารถทำให้ฟื้นคืนได้ แต่พระองค์กลับตรัสบอกว่า ให้นางไปหาเมล็ดพันธ์ผักกาดมาจากบ้านของคนที่ไม่มีใครเสียชีวิตมาปรุงยาจะสามารถรักษาลูกของนางให้ฟื้นได้ นางดีใจมากจึงออกแสวงหาเมล็ดพันธ์ผักกาดไปตามหมู่บ้านต่างๆ ทุกบ้านมีเมล็ดพันธ์ผักกาดแต่พอถามว่าบ้านนั้นๆ เคยมีคนตายไหม ได้รับคำตอบว่า มีคนตายทุกบ้าน เมื่อเป็นอย่างนี้นางจึงกลับได้สติว่า ความตายเกิดมีกับคนทุกคนไม่เฉพาะบุตรของนาง เมื่อได้สติแล้วจึงทิ้งศพลูกในป่า ผ่อนคลายความเศร้าโศกลงได้แล้วกลับมากราบทูลพระพุทธองค์ พระพุทธองค์เห็นว่า นางมีสติสัมปชัญญะพร้อมที่จะรับฟังพระธรรมคำสอนแล้วจึงแสดงพระธรรมเทศนาให้ฟัง เมื่อจบพระธรรมเทศนานางได้บรรลุโสดาบัน เรื่องนี้ชี้ให้เห็นถึงการบริหารโดยอาศัยกาลเวลาช่วยแก้ปัญหา ถ้าสมมติว่า พระองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาให้นางฟังในขณะที่กำลังเศร้าโศกอยู่นั้น นางก็คงไม่เชื่อพระองค์แล้วการแสดงพระธรรมเทศนานั้นก็จะไม่เป็นประโยชน์แก่นางเลย
จากตัวอย่างที่กล่าวมานี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นบทบาทการบริหารงานโดยอาศัยกาลเวลาของพระพุทธองค์ ทำให้การบริหารของพระองค์ประสบผลสำเร็จตามที่ตั้งไว้
๔) บริหารตามสถานที่และสิ่งแวดล้อม
การบริหารโดยยึดเอาสถานที่และสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องมือ พระองค์ทรงเลือกสถานที่ประทับในป่า หรือในที่ไม่ไกลจากชุมชนนัก ไม่ใกล้กับชุมชนนัก เช่น ทรงประทับบนภูเขาคิชฌกูฏ กรุงราชคฤห์ และทรงประทับที่อุทยานเวฬุวัน[๑๘] ของพระเจ้าพิมพิสาร เป็นต้น ซึ่งแต่ละสถานที่ล้วนเหมาะสมกับการอยู่อาศัยของบรรพชิต ทรงชี้แจงให้สาวกตระหนักถึงการอยู่ป่าว่าเป็นสถานที่เหมาะสำหรับการบำเพ็ญสมณธรรม ให้สาวกยินดีในการอยู่ป่า ไม่ให้คลุกคลีกับหมู่คณะและคฤหัสถ์มากเกินไป[๑๙] เพราะจะทำให้เสียเวลาบำเพ็ญสมณธรรม จะพลาดโอกาสที่จะบรรลุมรรค ผล อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของการประพฤติพรหมจรรย์ในศาสนาของพระองค์
การที่พระองค์ทรงแต่งตั้งพระสาวกให้ช่วยบริหารคณะสงฆ์ที่อยู่ตามทิศต่างๆ เป็นวิธีหนึ่งที่พระองค์เลือกใช้ เช่น ทรงแต่งตั้งให้พระอัญญาโกณทัญญะ ปกครอง ดูแลสาวกที่อยู่ทางทิศบูรพา (ทิศตะวันออก) ทรงแต่งตั้งพระมหากัสสปะ ปกครอง ดูแลสาวกที่อยู่ทางทิศอาคเณย์ (ทิศตะวันออกเฉียงใต้) ทรงแต่งตั้งให้พระสารีบุตร ปกครอง ดูแลสาวกที่อยู่ทางทิศทักษิณ (ทิศใต้) เป็นต้น เป็นการบริหารตามสถานที่
ส่วนการบริหารตามสิ่งแวดล้อม เช่น เมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมอย่างใดก็ทรงยกเอาส่ิ่งนั้นขึ้นเป็นตัวอย่างประกอบกับการสอน อาทิ ขณะที่เห็นฝูงโคกำลังข้ามแม่น้ำ ก็ทรงยกตัวอย่างว่า โคที่เป็นหัวหน้าไปตรง โคที่ตามหลังก็ไปตรงด้วย เช่นเดียวกัน ถ้าผู้นำหรือผู้ปกครอง ผู้บริหาร มีความซื่อสัตย์ ไม่คดโกง ลูกน้อง หรือผู้ตามก็ซื่อสัตย์ ไม่คดโกงด้วย
การที่พระองค์ทรงแต่งตั้งพระสาวกให้ช่วยบริหารคณะสงฆ์ที่อยู่ตามทิศต่างๆ เป็นวิธีหนึ่งที่พระองค์เลือกใช้ เช่น ทรงแต่งตั้งให้พระอัญญาโกณทัญญะ ปกครอง ดูแลสาวกที่อยู่ทางทิศบูรพา (ทิศตะวันออก) ทรงแต่งตั้งพระมหากัสสปะ ปกครอง ดูแลสาวกที่อยู่ทางทิศอาคเณย์ (ทิศตะวันออกเฉียงใต้) ทรงแต่งตั้งให้พระสารีบุตร ปกครอง ดูแลสาวกที่อยู่ทางทิศทักษิณ (ทิศใต้) เป็นต้น เป็นการบริหารตามสถานที่
ส่วนการบริหารตามสิ่งแวดล้อม เช่น เมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมอย่างใดก็ทรงยกเอาส่ิ่งนั้นขึ้นเป็นตัวอย่างประกอบกับการสอน อาทิ ขณะที่เห็นฝูงโคกำลังข้ามแม่น้ำ ก็ทรงยกตัวอย่างว่า โคที่เป็นหัวหน้าไปตรง โคที่ตามหลังก็ไปตรงด้วย เช่นเดียวกัน ถ้าผู้นำหรือผู้ปกครอง ผู้บริหาร มีความซื่อสัตย์ ไม่คดโกง ลูกน้อง หรือผู้ตามก็ซื่อสัตย์ ไม่คดโกงด้วย
๔. บทสรุป
การบริหารงานบุคคลสมัยใหม่มีแนวทางหลากหลายวิธีที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายนำมาใช้ซึ่งสามารถทำให้การบริหารงานประสบความสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง และมีการเปลี่ยนแปลงหลักการและวิธีการอยู่เป็นระยะๆ ตามยุคสมัยเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันให้มากที่สุด ส่วนหลักการบริหารที่พระพุทธองค์ทรงใช้ในการบริหารพุทธบริษัท ตั้งแต่สมัยเมื่อสองพันปีเศษล่วงมาจนถึงปัจจุบันนี้ หลักการและวิธีการของพระองค์ยังใช้ได้อยู่จนถึงทุกวันนี้ เป็นเรื่องที่น่าศึกษาและนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารงานในสมัยปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง เพื่อผลสัมฤทธิ์สูงสุดของการบริหารซึ่งหลักการและวิธีการเหล่านั้นได้นำเสนอไว้ในบทความนี้แล้ว
[๑] วิ.จู. (บาลี) ๗/๓๓๖/๗๒, วิ.จู. (ไทย) ๗/๓๓๖/๑๘๑.
[๒] ดูรายละเอียดใน ม.มู. (ไทย) ๑๒/๔๙๒/๕๓๑-๕๓๒, ม.อุ. (ไทย) ๑๔/๕๔/๕๙-๖๐.
[๓] ดูรายละเอียดใน วิ.มหา. (ไทย) ๔/๖๗/๘๘.
[๔] ที.ม. (บาลี) ๑๐/๑๓๔/๖๖, ที.ม. (ไทย) ๑๐/๑๓๔/๗๘.
[๕] ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๑๗๖/๑๓๗, ที.ปา.ฏีกา (บาลี) ๑๖๐/๑๐๐, สํ.นิ. (ไทย) ๑๖/๒๒/๔๐, องฺ.จตุกฺก. (ไทย) ๒๓/๕๔/๓๔๐-๓๔๑.
[๖] ดูรายละเอียดใน องฺ.ฉกฺก.อ. (บาลี) ๓/๑๔/๑๐๕, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา (บาลี) ๓/๑๔-๑๕/๑๑๘) และอภิ.ก. (บาลี) ๓๗/๒๖๗/๘๘.
[๗] ดูรายละเอียดใน วิ.ม. (ไทย) ๔/๑๓-๑๗/๒๐-๒๕.
[๘] อนุปุพพีกถา พรรณนาถึงเรื่อง การให้ทาน การรักษาศีล การไปเกิดในสวรรค์ โทษของการเสพสุขในสวรรค์ และสุดท้ายพรรณนาถึงอานิสงส์ของการออกบวช ประพฤติพรหมจรรย์ ดูรายละเอียดใน วิ.ม. (ไทย) ๔/๑๓-๑๗/๒๐-๒๕.
[๙] ที.ม. (บาลี) ๑๐/๑๓๔/๖๖, ที.ม. (ไทย) ๑๐/๑๓๔/๗๘.
[๑๐] ขุ.ชา. (ไทย) ๒๘/๑๗๘/๘๓.
[๑๑] ม.มู. (ไทย) ๑๒/๔๙๒/๕๓๑-๕๓๒, ม.อุ. (ไทย) ๑๔/๕๔/๕๙-๖๐.
[๑๒] ดูรายละเอียดใน ที.ปา. (ไทย) ๓๓๐/๓๓๓.
[๑๓] ดูรายละเอียดใน วิ.ม. (ไทย) ๔/๑-๙/๑-๑๕.
[๑๔] ดูรายละเอียดใน วิ.ม. (ไทย) ๔/๑๓-๑๗/๒๐-๒๕.
[๑๕] ดูรายละเอียดใน วิ.ม. (ไทย) ๔/๒๐-๒๔/๒๗-๓๑.
[๑๖] วิ.ม. (ไทย) ๔/๕๔/๖๓-๖๕.
[๑๗] ดูรายละเอียดใน ขุ.ธ.อ. (บาลี) ๑/๒๘๕-๒๘๖, ขุ.ธ.อ. (ไทย) ๑/๒๑๖-๒๑๙.
[๑๘] ดูรายละเอียดใน วิ.ม. (ไทย) ๔/๕๙/๗๑-๗๒.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น