วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2556

บทความเรื่อง การบริหารงานตามหลักอธิปไตยในพระพุทธศาสนา




การบริหารงานตามหลักอธิปไตยในพระพุทธศาสนา


The Administration in accordance with  Adhipateyya in Buddhism

เขียนโดย  พระมหาธานินทร์  อาทิตวโร ดร. 
มจร. วิทยาลัยสงฆ์เลย

บทคัดย่อ
การบริหารงานตามหลักอธิปไตย ๓ อย่าง คือ การบริหารตามหลักอัตตาธิปไตย หมายถึงการบริหารแบบยึดตัวเองเป็นใหญ่ เป็นศูนย์กลางการตัดสินใจ โดยไม่ต้องคำนึงคนอื่น การบริหารตามหลักโลกาธิปไตย หมายถึงการบริหารแบบยึดเอาเสียงส่วนมากเป็นใหญ่โดยยึดเอาความถูกต้องประกอบด้วย การบริหารตามหลักธรรมาธิปไตย หมายถึงการบริหารแบบยึดเอาธรรมเป็นใหญ่ หรือยึดเอาความถูกต้องเป็นใหญ่ โดยไม่คำนึงถึงเสียงส่วนมาก
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความแตกต่างและจุดเด่นจุดด้อยของระบอบการบริหารงานตามหลักอธิปไตยที่ปรากฏอยู่ในโลกปัจจุบันกับหลักอธิปไตยในพระพุทธศาสนา
จากการศึกษาพบว่า การบริหารงานที่ปรากฏอยู่ในโลกปัจจุบันมีทั้งความเหมือนและความแตกต่างกันกับการบริหารงานตามหลักอธิปไตยในพระพุทธศาสนา กล่าวคือ รูปแบบและโครงสร้างเหมือนกันแต่เรียกชื่อต่างกัน เช่น การบริหารงานตามหลักอัตตาธิปไตย ทางโลกเรียกว่า การบริหารแบบเผด็จการ หรือการบริหารแบบ ซีอีโอ (CEO) การบริหารงานตามหลักโลกาธิปไตย ทางโลกเรียกว่า การบริหารงานแบบประชาธิปไตย  ส่วนรายละเอียดหรือภาคปฏิบัติของทางโลกบางประเทศหรือบางองค์กรก็ยึดหลักการ บางประเทศหรือบางองค์กรก็ไม่เป็นไปตามหลักการที่กำหนดไว้
การบริหารตามหลักอธิปไตยทั้ง ๓ อย่าง  ในพระพุทธศาสนา ยึดเอาความถูกต้องเป็นหลัก ประเทศที่ยึดเอาความถูกต้องเป็นหลักจะประสบความสำเร็จในการบริหารประเทศ ส่วนประเทศที่ไม่ยึดเอาความถูกต้องเป็นหลักจะไม่ประสบความสำเร็จ จะเห็นได้จากฐานะและความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศ เช่น
การบริหารตามหลักอัตตาธิปไตย ที่ชาวโลกเรียกว่า การบริหารแบบเผด็จการ หรือแบบคอมมิวนิสต์ มีผลต่างกัน คือ ประเทศที่บริหารด้วยระบอบอัตตาธิปไตย ฐานะของประเทศและฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนมั่งคั่งร่ำรวยก็มี ยากจนก็มี
ประเทศที่บริหารด้วย ระบอบโลกาธิปไตย ประเทศชาติและประชาชนมั่งคั่งร่ำรวยก็มี ยากจนก็มี จึงตัดสินไม่ได้ว่า ระบอบไหนดีกว่ากัน แต่ตามหลักฐานในคัมภีร์พระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงใช้การบริหารครบทั้ง ๓ อย่าง แต่พระองค์ทรงยึดเอาความถูกต้องหรือยึดเอาธรรมเป็นหลัก

Abstract
The administration in accordance with Three Adhipateyya  (supremacy) is 1) the administration of the autocracy or the supremacy of self (Attādhipateyya)— the administration by centering oneself as supremacy, a center of decision-making without taking any consideration about others or proposed by any others.  2) The administration of supremacy of the world or public opinion (Lokādhipateyya) — the administration  is taken by the vote of the majority  through justice and righteousness. 3) The administration of supremacy of the Dhamma or righteousness (Dhammādhipateyya—The administration accords to dhamma or righteousness and by dhamma without only the vote of majority
This paper has objective of studying the difference and contrast and strong or weak point of administration in accordance with between the supremacy present in nowadays and found in Buddhism.
From the study, it is found that the administration appearing in the present world found the similarity and difference in the same way of Buddhist supremacy i.e. pattern and structure is similar but has difference title such the secular administration of the autocracy is called the autocratic administration or CEO administration,
The administration in accordance with Lokādhipateyya,  in secular domain called the administration named democracy. Some detailed descriptions or practices of secularism of some countries or organizations adhere to a principle while some do not adhere to assigned or authorized principle.
The administration in accordance with the sovereignty in Buddhism adheres to justice and righteousness, a nation which adheres to a principle always succeeds in administration while a nation which does not comply with a principle does not succeed. This is found in the position and living of population of the nation such as
The administration by the autocracy ( Attādhipateyya ) in secular domain called autocracy or communism is of difference effects i.e. some nations is governed by autocracy, for the position of nation and living quality of population in those nations, some are wealthy whereas some needy.
The country is governed by Lokādhipateyya, some nations and people are wealthy while some poor. This is not justifiable to which systems are superior while in accordance with Buddhism, the Buddha manipulates the three types of administration or government at the same time but he adheres to justice and righteousness as a main principle.

๑. บทนำ
ระบอบ การบริหารประเทศที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้มีทั้งระบอบประชาธิปไตย และระบอบคอมมิวนิสต์ หรือระบอบเผด็จการ ยังไม่มีการตัดสินที่ชัดเจนว่า ระบอบไหนดีกว่ากัน  แต่การบริหารด้วยระบอบประชาธิปไตย เป็นระบอบที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเป็นระบอบที่ดีที่สุดในปัจจุบันนี้ ในขณะที่ประเทศคอมมิวนิสต์ก็ยกให้ระบอบคอมมิวนิสต์เป็นระบอบการบริหารดีที่ สุด เช่น ประเทศสหภาพโซเวียต ในอดีต ประเทศจีน ประเทศเกาหลีเหนือ ในปัจจุบัน เป็นต้น การที่จะตัดสินว่าระบอบไหนดีกว่ากันคงตัดสินยากเพราะแต่ละระบอบก็มีทั้งข้อ ดีและข้อเสีย ถ้าจะเอาความร่ำรวยของประเทศ หรือว่า    เอา ความสุขของประชาชนในประเทศเป็นเกณฑ์ตัดสิน ก็ตัดสินไม่ได้เด็ดขาด เพราะแต่ละประเทศที่บริหารด้วยระบอบเดียวกันก็ไม่เหมือนกัน กล่าวคือ ฐานะของประเทศชาติและความเป็นอยู่ของประชาชนต่างกัน เช่น ประเทศเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ประเทศเกาหลีเหนือ บริหารประเทศด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ผู้นำประเทศได้รับการยกย่องเชิดชูเป็นที่เกรงขามของต่างประเทศ ข้าราชการมีฐานะอยู่ดีกินดี  แต่ประชาชนในประเทศอดอยาก ยากแค้น อยู่อย่างลำบากยากจน ประชาชนอยากจะย้ายหนีจากประเทศตัวเอง ในขณะที่ประเทศเกาหลีใต้ บริหารประเทศด้วยระบอบประชาธิปไตย ประเทศเจริญรุ่งเรือง ประชาชนมีฐานะดี อยู่ดีมีสุขทั้งรัฐบาลและเอกชน ประชาชนไม่อยากย้ายหนีไปไหน ในขณะเดียวกันมีแต่ประชาชนต่างประเทศอยากจะเข้าไปอยู่ประกอบอาชีพในเกาหลีใต้
ในกรณีของประเทศจีนที่บริหารประเทศด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ในอดีตชาวจีน อพยพไปอยู่ต่างประเทศแล้วสร้างฐานะร่ำรวยในประเทศที่ไปอยู่ใหม่ทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศ   แถบเอเชียด้วยกัน เช่น ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ลาว เวียดนาม กัมพูชา เป็นต้น แต่ในปัจจุบันประเทศจีนกลับเจริญรุ่งเรืองในหลายๆ ด้าน ทั่วโลกต้องจับตาดูความเคลื่อนไหวของจีน แสดงให้เห็นว่า การบริหารประเทศด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ก็มีข้อดีอยู่เหมือนกัน ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่บริหารประเทศด้วยระบอบประชาธิปไตย ประเทศชาติยังยากจนอยู่ ประชาชนก็ยากจน ต้องไปทำงานประกอบอาชีพต่างประเทศก็มีเยอะเหมือนกัน อย่างนี้ก็ทำให้ตัดสินยากว่าระบอบการบริหารไหนดีที่สุดและเหมาะที่สุดสำหรับการบริหารประเทศในปัจจุบัน
ในทางพระพุทธศาสนามีหลักการบริหารประเทศที่พระพุทธองค์ได้วางหลักไว้ คือ หลักอธิปไตย ๓ ได้แก่ อัตตาธิปไตย โลกาธิปไตย ธัมมาธิปไตย ซึ่งหลักการเหล่านี้ยังคงใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน ในบทความนี้ผู้เขียนจะได้ศึกษาวิเคราะห์หลักการทั้ง ๓ นี้ว่า พระพุทธองค์วางหลักการแต่ละอย่างไว้เพื่อเป้าหมายอะไร หลักการไหนควรใช้เมื่อไหร่ และใช้อย่างไร เพราะเหตุไรพระองค์จึงวางหลักเหล่านี้ไว้ หลักทั้ง ๓ นี้ ถ้าปฏิบัติตามแล้วจะได้ผลอย่างไร
๒. ความหมายของอธิปไตย
อธิปไตย  หมายถึง ความเป็นใหญ่ มี ๓ อย่างคือ อัตตาธิปไตย ความมีตนเป็นใหญ่ โลกาธิปไตย ความมีโลกเป็นใหญ่ ธัมมาธิปไตย  ความมีธรรมเป็นใหญ่[๑]
อธิปไตย หมายถึง อำนาจที่มีผลต่อการตัดสิน คือ อัตตาธิปไตย หมายถึงการตัดสินใจที่ถือความคิดของตนเองเป็นที่ตั้ง โลกาธิปไตย การถือตามความคิดของคนส่วนมากเป็นที่ตั้ง ธัมมาธิปไตย การถือตามความถูกต้องโดยถือหลักเหตุผลที่เหมาะสม ไม่ถือตามความเชื่ออย่างสุดโต่ง[๒]
๓. วิเคราะห์การบริหารตามหลักอธิปไตย ๓ ในพระพุทธศาสนา
อธิปไตย คือความเป็นใหญ่ในเรื่องเกี่ยวกับการบริหารงานหรือการปกครอง การที่ครอบครัวและองค์กรจะประสบความสำเร็จเจริญรุ่งเรือง จำต้องมีคณะผู้บริหารเป็นผู้ขับเคลื่อนกิจการของครอบครัวหรือองค์กร หลักการบริหารก็มีหลายรูปแบบ บางคนก็ถนัดการทำงานแบบเอาตัวเป็นศูนย์กลาง คือตัวเองเป็นใหญ่ หรือภาษาสมัยใหม่เรียกว่า ซีอีโอ CEO (Chief Executive Officer) หมายถึง บุคคลที่มีอำนาจและความรับผิดชอบสูงสุดในองค์การหรือบริษัท[๓] บางคนก็ถนัดการทำงานเป็นทีมเอาความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่เป็นหลัก หรือ ประชาธิปไตย บางคนก็ถนัดยึดเอาหลักการเป็นใหญ่ ไม่คำนึงเสียงส่วนมากแต่คำนึงถึงความถูกต้องเป็นใหญ่ ในพระพุทธศาสนามีหลักอธิปไตย ๓ อย่าง คือ อัตตาธิปไตย โลกาธิปไตย และธัมมาธิปไตย  ต่อไปนี้จะได้ศึกษาวิเคราะห์อธิปไตยแต่ละหัวข้อตามลำดับ
๓.๑ อัตตาธิปไตย
การบริหารตามหลักอัตตาธิปไตยก็คือการบริหารตามรูปแบบของ ซี อี โอ แนวคิดนี้มีหลักที่สำคัญคือ ประธานหรือหัวหน้าฝ่ายบริหารสูงสุดของบริษัทได้รับมอบอำนาจหน้าที่จากคณะกรรมการอำนวยการ หรือบอร์ดของบริษัทให้มีอำนาจในการจัดการ ซึ่งรวมถึงการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจ และการใช้อำนาจจัดการบริษัทอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด[๔] หน้าที่สำคัญอีกอย่างของ ซีอีโอ ก็คือ ควรต้องบริหารทรัพยากรบุคคลให้เป็น สื่อสารให้เป็น ไม่เช่นนั้น ไม่เพียงแต่จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ยังอาจเกิดแรงสะท้อนกลับมาในทางลบ เพียงเพราะประสานงาน และสื่อสารกับคนในองค์กรได้ไม่ชัดเจน[๕]
การบริหารระบบนี้เหมาะกับการบริหารครอบครัวและองค์กรขนาดเล็ก เช่น บริษัทเอกชน หรือการนำระบบนี้ไปบริหารองค์การใหญ่ๆ ที่เป็นของเอกชนก็สามารถประสบความสำเร็จได้ถ้าผู้นำเป็นคนฉลาด รอบคอบ มีวิสัยทัศน์มองการณ์ไกล เช่น ตัวอย่างที่นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ กล่าวถึงการบริหารงานขององค์การโทรศัพท์ว่า องค์การโทรศัพท์ใช้เวลาติดตั้งโทรศัพท์ ๔๐ ปี ได้ ๒.๔ ล้านเลขหมาย พอบริษัทในเครือ ซี พี คือบริษัทเทเลคอมเอเซีย เข้าไปสัมปทานจากรัฐบาลใช้เวลา ๕ ปี ติดตั้งโทรศัพท์ให้ประชาชน ได้ ๒ ล้านเลขหมายเท่ากันกับที่องค์การโทรศัพท์ทำ ๔๐ ปี[๖]
จาก ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า การบริหารงานแบบอัตตาธิปไตย หรือแบบเอาผู้นำเป็นที่ตั้งทำให้ประสบความสำเร็จ และมีคุณภาพเหมือนกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรู้ ความสามารถของผู้นำด้วย
ในทางพระพุทธศาสนาการบริหารแบบอัตตาธิปไตย พระพุทธองค์ทรงใช้เมื่อสมัยตรัสรู้ใหม่ๆ สาวกยังมีจำนวนน้อยสามารถดูแลทั่วถึงตัวอย่างที่พระองค์ใช้อัตตาธิปไตยในการบริหารคณะสงฆ์ เช่น การที่พระองค์อนุญาตให้กุลบุตรผู้มีความประสงค์จะบวชเป็นภิกษุ พระองค์ทรงอนุญาตให้อุปสมบทด้วยการเปล่งพระวาจาว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด หรือเรียกว่า เอหิอุปสัมปทา[๗] อาทิ การประทานการอุปสมบทให้แก่พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นต้น การบริหารแบบอัตตาธิปไตยนี้ก็ทำให้การบริหารคณะสงฆ์ของพระองค์เป็นไปด้วย ความเรียบร้อย ทำให้การเผยแผ่พระธรรมวินัยเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ แต่พระองค์ก็ไม่ได้ยึดเอาหลักการนี้ใช้ในการบริหารตลอดไป เมื่อหมู่สาวกมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นพระองค์จึงเปลี่ยนเป็นการบริหารแบบ โลกาธิปไตย และธัมมาธิปไตย
๓.๒ การบริหารงานตามหลักโลกาธิปไตย
การ บริหารงานตามหลักโลกาธิปไตย คือการบริหารยึดเอาเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ ในปัจจุบันเรียกว่า ระบอบประชาธิปไตย เป็นระบอบที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก เพราะอำนาจบริหารเป็นของประชาชน แต่เนื่องจากประชาชนมีเป็นจำนวนมากจึงต้องเลือกตัวแทนเข้าไปบริหาร ระบอบนี้จึงจัดให้มีการเลือกตั้งตัวแทนหรือผู้แทน เช่น เลือกตั้งประธานาธิบดี เลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น ข้อดีของระบอบนี้คือ ประชาชนมีสิทธิ์เลือกตัวแทนของตนเองด้วยตนเอง ผู้แทนเข้าไปบริหารต้องฟังเสียงของประชาชนด้วย เพราะถ้าบริหารไม่ดีสมัยต่อไป ประชาชนก็ไม่เลือก ระบอบนี้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ข้อเสียคือ ทำให้ล่าช้า เพราะต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน การเลือกตั้งก็มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงกันซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ไม่สามารถแก้ไข ได้อย่างถาวรหรือเด็ดขาด เพราะยินยอมกันทั้งสองฝ่าย เช่นตัวอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
จากเหตุการณ์ทีเกิดขึ้นกับประเทศไทยนี้แสดงให้เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยที่ใช้กันอยู่นี้ไม่เหมาะกับประเทศไทย สอดคล้องกับข้อมูลที่ สิริอัญญา ได้นำเสนอในบทความเรื่อง พุทธทาสกับธรรมาธิปไตย ตอนหนึ่งว่า  สำนักวิจัยสำคัญของสหรัฐอเมริกาได้แฉโพยกันเองแล้วว่า ระบอบประชาธิปไตย ไม่เหมาะสมกับประเทศในเอเซียและในประเทศไทย เพราะมิได้คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบท มิได้คำนึงถึงการซื้อเสียงและการใช้อำนาจอิทธิพล ตลอดจนการคอร์รัปชั่นซึ่งเป็นด้านหลักที่ปกคลุมประเทศในเอเชียอยู่ สำนักวิจัยนี้จึงได้ชี้ว่าประเทศในเอเซียจึงพากันปฏิเสธประชาธิปไตยแบบที่สหรัฐต้องการให้เป็นแทบจะ สิ้นเชิงแล้ว แม้กระทั่งคนซึ่งต่อต้านคอมมิวนิสต์ชนิดหัวเด็ดตีนขาดก็ปฏิเสธประชาธิปไตย แบบตะวันตกนั้นแล้ว[๘]  
สิริอัญญา ได้อ้างถึงพุทธทาสภิกขุว่า ท่านเจ้าคุณได้อรรถาธิบายนากาลต่อมาว่า สิทธิเสรีภาพก็มีทั้งดีและไม่ดี คือมีทั้งฝ่ายสัมมาและฝ่ายมิจฉา นั่นคือสิทธิเสรีภาพที่รับใช้ประเทศชาติ รับใช้ประชาชนเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นสิทธิเสรีภาพที่เป็นสัมมา แต่สิทธิเสรีภาพในการทำลายชาติบ้านเมืองเป็นสิทธิเสรีภาพแบบมิจฉา การปกครองไม่ว่าในระบบไหนๆ หากไม่ถือธรรมเป็นใหญ่ ไม่เคารพธรรมและไม่เป็นธรรมแล้ว การปกครองนั้นๆ ก็ใช้ไม่ได้ทั้งสิ้น เช่นเดียวกับความสามัคคีหรือความสมานฉันท์หรือการปรองดอง หากไม่ตั้งอยู่ในธรรม ไม่เป็นไปโดยธรรมแล้ว ล้วนใช้ไม่ได้ทั้งสิ้น[๙] 
พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี  สุรเตโช) ได้แสดงทัศนะว่า โลกาธิปไตย เป็นดาบสองคม มีทั้งคุณและโทษ กล่าวคือหากเสียงส่วนใหญ่ประกอบด้วยธรรม มาจากผู้มีคุณธรรม ย่อมให้คุณ แต่หากไม่ประกอบด้วยธรรม มาจากผู้ขาดธรรมย่อมให้โทษมากกว่าให้คุณ[๑๐] สอดคล้องกับทัศนะที่ว่า พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนเกี่ยวกับการกระทำของมนุษย์ว่าเกิดขึ้นด้วยอำนาจ แห่งอธิปไตย ๓ ประการนี้ ประการใดประการหนึ่ง ทั้งในส่วนที่เป็นกุศลกรรม และอกุศลกรรม เช่น คนทำดีเพราะเห็นตามคนส่วนใหญ่ หรือในทางกลับกัน คนทำชั่วเพราะเห็นตามคนส่วนใหญ่ โดยไม่พินิจพิจารณาว่าที่คนส่วนใหญ่ทำนั้นถูกหรือผิด[๑๑]
ในพระพุทธศาสนาพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ใช้การบริหารแบบระบอบโลกาธิปไตยเหมือนกัน เช่น ต่อมามีสาวกเพิ่มมากขึ้นพระองค์จึงมอบอำนาจการบริหารให้เป็นหน้าที่ของคณะสงฆ์ ให้คณะสงฆ์เป็นใหญ่ อาทิ ทรงอนุญาตให้มีการอุปสมบทด้วยวิธีญัตติจตุตถกรรมวาจา[๑๒] คือทรงอนุญาตให้มีพระภิกษุเข้าร่วมสังฆกรรมอย่างน้อย ๕ รูปเป็นอย่างน้อย เฉพาะในชนบทที่ห่างไกล ส่วนในมัชฌิมประเทศ ทรงอนุญาตให้มีพระภิกษุเข้าร่วมสังฆกรรมตั้งแต่ ๑๐ ขึ้นไป[๑๓] คณะสงฆ์ฝ่ายเถรวาทจึงได้ยึดเอาหลักนี้ปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้
จากหลักฐานที่ปรากฏในพระไตรปิฎกจะเห็นว่าพระพุทธองค์ทรงสรรเสริญระบอบการบริหารแบบโลกาธิปไตยมาก เช่น การที่พระองค์แนะนำให้พระนางปชาบดีโคตมีผู้เป็นพระมาตุจฉา (น้า) ผู้ต้องการจะถวายผ้าไหมเนื้อดีที่พระนางทอเองแก่พระพุทธเจ้าเพื่อจะได้ อานิสงส์มาก แต่พระองค์แนะนำให้พระนางถวายแก่สงฆ์จะได้อานิสงส์มากกว่า เรื่องนี้ปรากฏใน พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ ชื่อว่า ทักขิณาวิภังคสูตร ในมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์[๑๔] แต่โลกาธิปไตยในความหมายนี้พระพุทธองค์หมายถึงเสียงส่วนมากหรือสงฆ์ที่ทำตามธรรมตามวินัย ถ้าผิดธรรมผิดวินัยพระองค์ก็ติเตียน ดังพระพุทธพจน์ว่า นิคฺคณฺเห นิคฺคหารหํ ติเตียนคนที่ควรติเตียน ปคฺคณฺเห ปคฺคหารหํ ยกย่องคนที่ควรยกย่อง[๑๕]
๓.๓ การบริหารงานตามหลักธัมมาธิปไตย
การบริหารงานตามหลักธัมมาธิปไตย คือ การบริหารแบบยึดเอาความถูกต้องเป็นเกณฑ์ไม่ได้คำนึงเสียงส่วนใหญ่ที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม มีนักปราชญ์ทางด้านพระพุทธศาสนาหลายท่านได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับการบริหารงานตามหลักการนี้ไว้ เช่น
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) ได้แสดงทัศนะไว้ในหนังสือเรื่อง ธรรมาธิปไตยไม่มา จึงหาประชาธิปไตยไม่เจอ สรุปใจความได้ว่า ธรรมาธิปไตยไม่ใช่ระบบแยกต่างหาก อีกระบบจากประชาธิปไตย แต่เป็นคุณภาพเป็นหลักเกณฑ์ในการตัดสินใจของบุคคลที่อยู่หรือร่วมอยู่ในระบบการปกครองนั้นถ้าการตัดสินใจโดยตรวจสอบเรื่องราว สืบค้นความจริง หาข้อมูลให้ชัดเจนถ่องแท้ ใช้ปัญญาพิจารณาในการตัดสินใจต่างๆ เช่น ถ้าในระบอบประชาธิปไตยก็เป็นการตัดสินใจเลือกตั้ง โดยพิจารณาว่าผู้สมัครคนไหนเป็นคนดี มีความสามารถ มุ่งทำประโยชน์ให้ส่วนรวมจริงๆ ก็ตัดสินใจไปตามความดีงามความถูกต้องนั้น นี้เรียกว่าเป็นธรรมาธิปไตย แต่ถ้าเลือกโดยเอาผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก นี้เรียกว่าอัตตาธิปไตย หรือตัดสินใจเลือกโดยว่าไปตามกระแส ลงคะแนนแบบเฮตามพวกไป นี้เรียกว่าโลกาธิปไตย[๑๖]
พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร  ธมฺมจิตฺโต) ได้แสดงทัศนะไว้ในหนังสือเรื่อง พุทธวิธีบริหาร ตอนว่าด้วยการบริหารตามหลักธัมมาธิปไตยสรุปใจความได้ว่า การบริหารตามหลัก    ธัมมาธิปไตย ผู้บริหารต้องประกอบด้วยพละ ๔ คือ ปัญญาพละ วิริยพละ อนวัชชพละ สังคหพละ ปัญญาพละ กำลังคือปัญญา หมายถึง ผู้บริหารต้องมีปัญญา คือ ต้องเป็นผู้ขวนขวายเพื่อให้เกิดปัญญา ๓ ด้าน อาทิ สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการฟัง จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการคิด ภาวนามยปัญญา  ปัญญาเกิดจากการปฏิบัติ หรือการเจริญภาวนา ในที่นี้ท่านอธิบายการรอบรู้ ๓ อย่าง คือ รู้จักตน  รู้คน รู้งาน  รู้จักตนเองคือรู้ความสามารถของตน อุปนิสัยของตน รู้จักคน คือรู้จักคนที่ทำงานร่วมกัน หมายความว่า มอบงานให้ถูกกับคน  และรู้งาน คือรู้จักงานที่รับผิดชอบ วิริยพละ พลังของความเพียร ผู้บริหารต้องเป็นคนขยัน อดทน ต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ทอดทิ้งธุระกลางครัน ในที่นี้ท่านอธิบายเกี่ยวกับสสังขาริกะ คือ มีความขยันสู้งานเพราะคนอื่นชักชวนแนะนำ อสังขาริกะ มีความขยันสู้งานด้วยความเพียรของตนเอง  อนวัชชพละ พลังแห่งการงานที่ไม่มีโทษ คือประกอบการงานสุจริต ไม่ผิดกฎหมายและศีลธรรม ท่านอธิบายว่า ผู้บริหารต้องเว้นอบายมุข อันเป็นทางแห่งความเสื่อม เช่น ไม่ติดการพนัน ไม่ติดสุรายาเสพติด ไม่เกียจคร้าน ไม่คบมิตรชั่ว จากนั้นให้รักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ สังคหพละ คือให้มีพรหมวิหาร ๔ ประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา และสังคหพละ พลังแห่งการสงเคราะห์ หมายถึงผู้บริหารต้องเป็นคนสงเคราะห์เพื่อนร่วมงานตามสมควรแก่ตำแหน่งหน้าที่ การสงเคราะห์มีหลายวิธี เช่น การให้สิ่งของ การพูดจาด้วยถ้อยคำไพเราะ สุภาพอ่อนโยน การช่วยเหลือการงานบางครั้งบางคราว และการวางตัวเสมอต้นเสมอปลายหรือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา[๑๗] 
จากทัศนะของพระธรรมโกศาจารย์ที่นำเอาปัญญาพละมาเป็นเครื่องมือในการบริหารตามหลักธัมมาธิปไตยนี้ ผู้เขียนมีความเห็นสอดคล้องกับทัศนะดังกล่าวนี้เพราะพระพุทธองค์ได้ตรัสสรรเสริญปัญญาไว้หลายแห่งต่างกาลต่างวาระกัน เช่น ตรัสว่า ปญฺญา โลกสฺมิ ปชฺโชโต ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก[๑๘] ปญฺญา นรานํ  รตนํ  ปัญญา เป็นรัตนะของนรชน[๑๙] เป็นต้น ตามหลักพระพุทธศาสนา มีปัจจัยเป็นเครื่องพัฒนาปัญญาอยู่ ๒ อย่าง คือ ปรโตโฆสะและโยนิโสมนสิการ[๒๐]  
ปรโตโฆสะ แยกออกเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนที่เป็นบุคคลโดยตรง เช่น บิดามารดา ครู อาจารย์ ผู้เป็นกัลยาณมิตร คอยแนะนำตักเตือน ในสิ่งที่ดีงามก่อให้เกิดความรู้หรือปัญญา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ปัจจัยภายนอก ส่วนที่สองได้แก่ คัมภีร์ต่าง ๆ ที่บันทึกคำสอนของท่านผู้รู้ทั้งหลาย เช่น ตำรับตำรา หรือหนังสือเรียน เป็นต้น  เป็นแหล่งความรู้ที่เป็นประโยชน์เมื่อได้อ่านแล้วจะทำให้เกิดปัญญา
โยนิโสมนสิการ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ปัจจัยภายใน ได้แก่การพิจารณาไตร่ตรองใคร่ครวญสิ่งที่ได้รับฟังมาจากบิดามารดา ครูอาจารย์นั้น หรือที่ได้อ่านมานั้นตามกำลังสติปัญญา ก็จะทำให้เกิดปัญญาเพิ่มขึ้น เช่น ได้ยินบิดามารดาบอกว่า การดื่มสุราไม่ดีเพราะจะทำให้สูญเสียการทรงตัว สติจะอ่อนกำลังไม่สามารถควบคุมความคิดหรืออวัยวะร่างกายของตนให้อยู่ในสภาวะปกติได้  เมื่อได้รับฟังมาอย่างนี้แล้ว ก็นำไปคิดไตร่ตรองต่อว่า เพราะเหตุไร สุราจึงมีฤทธิ์ทำให้คนที่ดื่มเป็นอย่างนั้น ก็ต้องไปศึกษาต่อว่า สุราประกอบด้วยสารอะไรบ้าง หรือว่า สุราทำมาจากอะไร เมื่อคิดพิจารณาอย่างนี้แล้วก็จะทราบข้อเท็จจริงของสุรา ความรู้ที่ได้ก็กลายเป็นปัญญา ที่เกิดขึ้นด้วยโยนิโสมนสิการ[๒๑] 
จากข้อความที่ได้ทำการศึกษามานี้แสดงให้เห็นว่าการบริหารตามหลักธัมมาธิปไตยผู้บริหารต้องประกอบด้วยพละ ๔ ประการ คือ ปัญญาพละ วิริยพละ อนวัชชพละ และสังคหพละ ดังกล่าวนั้นจึงจะประสบความสำเร็จในการบริหารตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
เรื่องการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาตัดสินใหม่ของเจ้าชายพันธุละมหาอำมาตย์ของพระเจ้า ปเสนทิโกศล เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า เจ้าพันธุละ ได้บริหารตามหลักธัมมาธิปไตย ความย่อว่า เจ้าชายพันธุละ ได้รื้อฟื้นคดีความที่คณะผู้พิพากษาชุดเดิมตัดสินไม่เป็นธรรมขึ้นมาพิจารณา ใหม่ แล้วตัดสินให้ผู้ถูก เป็นฝ่ายชนะ ให้ผู้ผิดเป็นฝ่ายแพ้ ทำให้ประชาชนพอใจการตัดสินของเจ้าชายพันธุละ พากันส่งเสียงสาธุการ ดังไปถึงพระตำหนักของพระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบเรื่องจึงแต่งตั้งให้เสนาบดีพันธุละ เป็นผู้พิพากษาอีกตำแหน่งหนึ่ง[๒๒]
การที่พระพุทธเจ้าทรงแต่งตั้งอัครสาวกทั้งสอง คือพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ก็ทำตามธัมมาธิปไตย กล่าวคือ พระเถระทั้งสองรูปนี้เคยได้บำเพ็ญบารมีมาตั้งแต่อดีตชาติเพื่อได้ตำแหน่งอัครสาวกของพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง ถึงแม้ว่าการแต่งตั้งครั้งนั้นจะมีเสียงคัดค้านจากพระภิกษุเป็นจำนวนมากว่า พระองค์เห็นแก่หน้า เห็นแก่พวกพ้อง เพราะพระเถระทั้งสองรูปนั้นเพิ่งจะบวชไม่นาน มีพระเถระที่มีพรรษามากกว่าและเหมาะสมกว่าหลายรูป พระองค์นำเรื่องราวในอดีตชาติของแต่ละรูปมาแสดงให้พวกภิกษุฟัง เสียงคัดค้านจึงเงียบหายไปทุกรูปจึงยอมรับการตัดสินพระทัยของพระองค์[๒๓]
ในบรรดาอธิปไตยทั้ง ๓ นั้น ธัมมาธิปไตยนี้พระองค์ให้ความสำคัญมากเห็นได้จากพระพุทธพจน์ที่ปรากฏในพระ ไตรปิฎกหลายแห่งที่พระองค์ทรงเตือนให้ภิกษุ ยึดเอาธรรมเป็นใหญ่ ทรงแนะนำให้ภิกษุยึดเอาพระธรรมเป็นที่พึ่ง เช่น พระพุทธพจน์ในมหาปรินิพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค ในจักกวัตติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ในโคปกโมคคัลลานสูตร ในอัตตทีปสูตร สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ในคิลานสูตร สังยุตตนิกาย มหาวารวรรคว่า
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่งไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่เถิด[๒๔]
๔. บทสรุป
การบริหารงานตามหลักอธิปไตย ๓ คือการบริหารแบบเอาตัวเป็นใหญ่ในการตัดสินสั่งการโดยไม่ต้องขอความเห็นจากคนอื่น เมื่อสั่งการไปแล้วผู้สั่งรับผิดชอบแต่ผู้เดียว เรียกว่า อัตตาธิไตย ข้อดีของการบริหารแบบนี้ คือ ทำให้รวดเร็วทันใจ ได้งานมาก ข้อเสีย คือ โอกาสที่จะผิดพลาดมีสูง และเป็นการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของคนอื่น  การบริหารแบบเอาเสียงส่วนมากเป็นเกณฑ์ตัดสิน หรือการบริหารแบบประชาธิปไตยในปัจจุบัน ผู้เป็นหัวหน้าต้องฟังเสียงคนอื่นด้วย เมื่อเสียงส่วนมากว่าอย่างไรก็เอาตามนั้น เรียกว่า โลกาธิปไตย ข้อดีของการบริหารแบบนี้ คือ ทุกคนมีส่วนร่วมในการบริหารหรือแสดงความคิดเห็น การบริหารโปร่งใส เพราะมีระบบการตรวจสอบ ข้อเสียคือ ทำให้ล่าช้าเพราะต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน  การบริหารแบบเอาความถูกต้องเป็นหลักโดยไม่คำนึงถึงเสียงส่วนมาก เรียกว่า ธัมมาธิปไตย  แต่ถ้าเสียงส่วนมากถูกก็ถือว่าเป็นธัมมาธิปไตยเหมือนกัน พระพุทธองค์ได้วางหลักการบริหารทั้ง ๓ นี้ไว้เพื่อเป็นแนวทางให้สาวกนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารงาน ตามความเหมาะสมแก่สถานการณ์ดังที่พระองค์ได้ใช้เป็นแบบอย่างมานั้น ในบรรดาหลักการบริหารทั้ง ๓ นี้ พระองค์จะให้ความสำคัญกับหลักธัมมาธิปไตยมากกว่า เพราะการยึดธรรมเป็นใหญ่หรือยึดความถูกต้องเป็นหลักจะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองโดยส่วนเดียว
โดยสรุปไม่ว่าจะบริหารแบบไหน ถ้ายึดความถูกต้องตามธรรมตามระเบียบกฎหมายและระเบียบขององค์กรนั้นๆ ก็ถือว่าเป็นการบริหารตามหลักธัมมาธิปไตยเหมือนกัน เพราะหลักการบริหารทั้ง ๓ นี้ไม่สามารถแยกออกจากกันโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เหตุที่หลักธรรมในพระพุทธศาสนาสามรถเชื่อมโยงถึงกันหมดไม่ว่าจะยกหลักธรรมข้อไหนขึ้นมาปฏิบัติก็เท่ากับได้ปฏิบัติตามหลักคำสอนครบทั้งหมด


[๑] ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๓๐๕/๒๗๔, องฺ.ติก. (ไทย) ๒๐/๔๐/๒๐๑,  ดูเพิ่มเติมใน พระพระพรหม-  คุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์, พิมพ์ครั้งที่ ๑๖, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ บริษัท สหธรรมิก จำกัด, ๒๕๕๔), หน้า ๔๘๔.
[๒] http://th.wikipedia.org/wiki/อธิปไตย  (๒๙ สิงหาคม  ๒๕๕๕).
[๓] http://blog.eduzones.com/jipatar/ (๓๑  สิงหาคม  ๒๕๕๕).
[๔] http://blog.eduzones.com/jipatar/ (๓๑  สิงหาคม  ๒๕๕๕).
[๕] http://www.classifiedthai.com/content.(๓๑  สิงหาคม  ๒๕๕๕).
[๖] อภิวัฒน์  วรรณกร, ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์  คิด พูด เขียน, (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, ๒๕๔๐), หน้า ๑๓๘.
[๗] ดูรายละเอียดใน วิ.ม. (ไทย) ๔/๑๘/๒๕.
[๘] สิริอัญญา บทความเรื่อง พุทธทาสกับธรรมาธิปไตย, [ออนไลน์] แหล่งที่มา : http://www.paisalvision.com (๓๑  สิงหาคม  ๒๕๕๕).
[๙] http://www.paisalvision.com/ (๓๑  สิงหาคม  ๒๕๕๕).
[๑๐] พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี  สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต), คำวัด, [ออนไลน์] แหล่งที่มา : http://www.kalyanamitra.org  (๓๑  สิงหาคม  ๒๕๕๕). 
[๑๑] http://www.br.ac.th  (๓๑  สิงหาคม  ๒๕๕๕).
[๑๒] คือการสวดตั้งญัตติประกาศให้สงฆ์ทราบ ๑ ครั้ง แล้วสวดประกาศรับเข้าหมู่ ๓ ครั้ง.
[๑๓] ดูรายละเอียดใน วิ.ม. (ไทย) ๕/๒๕๙/๓๙, ๓๘๘/๒๗๖, ๔๕๐/๓๒๘. 
[๑๔] ดูรายละเอียดใน ม.อุ. (ไทย) ๑๔/๓๗๖/๔๒๔-๔๓๒.
[๑๕] ขุ.ชา. (ไทย) ๒๗/๒๔๔๒/๕๓๑.
[๑๖]  พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต), ธรรมาธิปไตยไม่มา จึงหาประชาธิปไตยไม่เจอ, ปี ๒๕๔๙), หน้า ๑๓, [ออนไลน์] แหล่งที่มา : http://www.nidambe11.net (๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๕).
[๑๗]  พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร  ธมฺมจิตฺโต), พุทธวิธีบริหาร, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๙), หน้า ๕๓-๗๘.
[๑๘] สํ.. (บาลี) ๑๕/๘๐/๓๓สํ.. (ไทย) ๑๕/๘๐/๘๕
[๑๙] สํ.. (บาลี) ๑๕/๕๑-๕๒/๒๖, สํ.. (ไทย) ๑๕/๕๑/๖๗.
[๒๐] องฺ.ทุก. (ไทย) ๒๐/๑๒๗/๑๑๕, องฺ.ทุก.อ. (ไทย) ๒/๑๒๗/๕๓. 
[๒๑] พระมหาธานินทร์  อาทิตวโร, การพัฒนาสังขารเพื่อการบรรลธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท, วิทยานิพนธ์ พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต, (บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๕๕), หน้า ๗๐.
[๒๒] ดูรายละเอียดใน ขุ.ธ.อ. (ไทย) ๓/๑๙๗.
[๒๓] ดูรายละเอียดใน ขุ.ธ.อ. (ไทย) ๑/๕๕.
[๒๔] ที.ม. (ไทย) ๑๐/๑๖๕/๑๑๑, ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๘๐/๕๙, ม.อุ. (ไทย) ๑๔/๘๐/๘๗, สํ.ขนฺธ. (ไทย) ๑๗/๔๓/๕๙, สํ.ม. (ไทย) ๑๙/๒๗๕/๒๒๔.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น