วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2556

บทความเรื่อง การบริหารงานตามหลักสังคหวัตถุในพระพุทธศาสนา



การบริหารงานตามหลักสังคหวัตถุในพระพุทธศาสนา

เขียนโดย พระมหาธานินทร์  อาทิตวโร ดร.
มจร. วิทยาลัยสงฆ์เลย

๑. บทนำ
งานวิจัยในโลกนี้มีผลเป็นจริงอยู่ในระยะหนึ่งสมัยหนึ่งก็ต้องเปลี่ยนแปลงเพราะกาลเวลาผ่านไปมีทฤษฎีใหม่มาล้มล้าง  ทฤษฎีเก่าหรือความเชื่อเก่าก็ตกไป เช่น ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ของอริสโตเติลที่ว่า โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ในขณะที่โคเปอร์นิคัสเห็นว่า ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะจักรวาล ต่อมา กาลิเลโอ นักดาราศาสตร์และนักฟิสิกส์ยุคใหม่ชาวอีตาลี ได้ค้นพบแล้วสนับสนุนแนวคิดของโคเปอร์นิคัส[๑]
กาลิเลโอ ได้ค้นพบทฤษฎีใหม่เกี่ยวกับการตกลงของวัตถุที่มีน้ำหนัก ไม่เท่ากันแต่จะ ลงถึงพื้นดินพร้อมกัน ซึ่งแตกต่างจาก ทฤษฎีที่อริสโตเติลเคยอธิบายไว้ว่า  การ ที่สิ่งของตกลงสู่พื้นดินนั้น เป็นเรื่องของการเคลื่อนที่ตามธรรมชาติ มิได้มีเรื่องของแรงมาเกี่ยวข้อง  หากเป็นเพราะโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ทุกสิ่งจึงต้องเคลื่อนที่เข้าสู่ศูนย์กลางของโลก[๒] หรืออธิบายให้เข้าใจง่ายก็คือ วัตถุที่มีมวลต่างกัน เมื่อปล่อยให้ตกลงมา วัตถุที่หนักจะตกถึงพื้นก่อน[๓]
กาลิเลโอได้ทำการทดลอง ณ หอเอนแห่งเมืองปิซา (Piza) โดยพิสูจน์ให้เห็นว่า วัตถุต่างชนิดตกลงสู่พื้นโลก  ด้วยความเร่งที่เท่ากัน  แนวความคิดนี้ถูกนำไปพัฒนาต่อโดย เซอร์ไอแซค นิวตัน นักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษในยุคต่อมา[๔]  กาลิเลโอได้ทำการปล่อยวัตถุที่มีมวลต่างกัน ๒ ชิ้น ในเวลาพร้อมกัน ซึ่งวัตถุดังกล่าว ได้ตกลงมาภายใต้แรงโน้มถ่วงโลก และถึงพื้นเกือบจะพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่าความคิดของอริสโตเติลนั้นไม่ถูกต้อง[๕]
จากข้อความข้างต้นนี้จะเห็นว่าความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่หลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบแล้วนำมาสอนสาวกยังคงให้ผลตามที่พระองค์ตรัสไว้ทุกประการไม่เคยเปลี่ยนแปลง ทนต่อการพิสูจน์ เช่น หลักสังคหวัตถุนี้ ซึ่งเป็นหลักคำสอนที่พระพุทธองค์วางไว้เพื่อเป็นแนวทางแก่การปฏิบัติต่อกันของสาวกให้เกิดความไมตรีต่อกันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของกันและกัน หลักสังคหวัตถุ การสงเคราะห์กันและกันเป็นหลักที่จำเป็นต่อสังคมที่อยู่ร่วมกันโดยเฉพาะ ทาน การให้สิ่งของแก่ผู้ร่วมงาน เป็นการให้กำลังใจแก่ผู้ร่วมงาน ซึ่งการให้กำลังใจแก่ผู้ร่วมงานมีหลายวิธี การใช้วาจาไพเราะ สุภาพอ่อนโยนก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ร่วมงานเกิดความประทับใจ มีกำลังใจที่จะทำงานอย่างมีความสุข การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การวางตนให้เสมอต้นเสมอปลายหรือการเอาตนเข้าไปเชื่อมประสานกับเพื่อนร่วมงานคือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ก่อให้เกิดความรักความสามัคคีในองค์กร หลักธรรมนี้ยังไม่มีทฤษฎีสมัยใหม่ของใครมาล้มล้างได้จนเวลาล่วงมาสองพันปีเศษแล้ว
ในบทความนี้ผู้เขียนจะได้อธิบายให้เห็นว่าหลักสังคหวัตถุสามารถนำมาใช้ในการบริหารงานได้ผลจริง และเพื่อให้ทราบว่าพระพุทธเจ้าได้วางหลักการนี้ไว้อย่างไร มีอะไรบ้าง  ถ้าปฏิบัติตามแล้วจะมีผลจะเป็นอย่างไร  จึงทำให้หลักการนี้ให้ผลสำเร็จแก่ผู้ปฏิบัติตามจนถึงปัจจุบัน  
๒. ความหมายของสังคหวัตถุ
สังคหวัตถุ  หมายถึง เรื่องที่จะสงเคราะห์กัน, คุณเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวใจของผู้อื่นไว้ได้, หลักการสงเคราะห์ คือช่วยเหลือกันยึดเหนี่ยวใจกันไว้  และเป็นเครื่องเกาะกุมประสานโลกคือสังคมแห่งหมู่สัตว์ไว้ดุจสลักยึดรถที่กำลังแล่นไปให้คงเป็นรถและวิ่งแล่นไปได้ มี ๔ อย่าง คือ ทาน  การแบ่งปันเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ปิยวาจา พูดจาน่ารัก น่านิยมนับถือ อัตถจริยา การบำเพ็ญประโยชน์  สมานัตตตา  ความมีตนเสมอ  คือ ทำตัวให้เข้ากันได้ เช่น ไม่ถือตัว ร่วมสุขร่วมทุกข์กัน[๖]
๓. วิเคราะห์การบริหารตามหลักสังคหวัตถุ ๔
๓.๑ การบริหารตามหลักทาน
หลักของทาน การให้สิ่งของของตนแก่คนที่ควรให้  สถาบันครอบครัวการให้สิ่งของเป็นสิ่งที่หัวหน้าครอบครัวต้องเรียนรู้ คือต้องรู้จักการให้โดยเฉพาะการแบ่งปันทรัพย์สินหรือมรดกให้แก่สมาชิกในครอบครัวต้องทำด้วยความยุติธรรมปราศจากอคติ  ทานในทางพระพุทธศาสนามี ๒ อย่าง คือ อามิสทาน การให้สิ่งของ และธรรมทาน  การให้ธรรมะ[๗] ทานเป็นหลักพื้นฐานการบำเพ็ญบุญของชาวพุทธ คือหลักบุญกิริยาวัตถุ ๓ ได้แก่ ทาน ศีล ภาวนา[๘] การให้ทานตามหลักพุทธศาสนาเป็นการจำกัดกิเลสอย่างหยาบ คือ กำจัดความตระหนี่ออกจากจิตใจของตน นอกจากนี้ผู้ที่ชอบให้ทานยังเป็นที่รักของผู้รับอีก ดังพระพุทธพจน์ว่า ททมาโน   ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก[๙] หรือ ททํ มิตฺตานิ คนฺถติ ผู้ให้ย่อมผูกใจหมู่มิตรไว้ได้[๑๐] เนื้อความคาถาในคัมภีร์วิสุทธิมรรคกล่าวถึงอานิสงส์ของการให้ว่า
การให้ ปราบคนที่ใคร ๆ ปราบไม่ได้ (ก็ได้) การให้ ยังสิ่งประสงค์ทั้งปวงให้สำเร็จ (ก็ได้) ด้วย การให้กับการเจรจาไพเราะ (ประกอบกันทำให้) คนทั้งหลายเงยก็มี ก้มก็มี[๑๑]
การให้วัตถุสิ่งของสามารถผูกสัมพันธไมตรีของคนที่เป็นบริวารไว้ชั่วนิรันดร เช่น เรื่องของนายปุณณะ คนใช้หรือทาสของเมณฑกเศรษฐี ปู่ของนางวิสาขามหาอุบาสิกา ด้วยความผูกพันในเจ้านายทำให้นายปุณณะอธิษฐานขอให้เกิดมาเป็นทาสของเจ้านายทุกภพทุกชาติ[๑๒] นายประสิทธิ์  กาญจนวัฒน์ เพื่อนร่วมงานของนายชิน  โสภณพนิช ผู้ก่อตั้งธนาคารกรุงเทพ ความเป็นผู้ให้ของนายชิน ทำให้นายประสิทธิ์ ซาบซึ้งน้ำใจของเพื่อนจึงไม่ยอมไปทำงานที่อื่น นายประสิทธ์กล่าวว่าบางครั้งนายชินซื้อหุ้นแล้วแบ่งให้โดยที่นายประสิทธิ์ไม่ได้ลงทุนร่วมเลย แต่นายชินก็แบ่งให้ เป็นน้ำใจที่ทำ ให้นายประสิทธิ์ประทับใจอยู่ตลอดและเป็นเหตุให้เขาอยู่ช่วยนายชินตลอดมา[๑๓]
การให้มีหลายอย่างหลายวิธีไม่ได้หมายถึงการให้วัตถุสิ่งของอย่างเดียว การช่วยงานตามสมควรแก่โอกาส การมีน้ำใจต่อกันบนท้องถนนของผู้ขับขี่ยานพาหนะ การลุกให้คนแก่หรือ สตรีนั่งขณะอยู่บนรถโดยสารประจำทาง  การแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต การให้อภัยแก่ผู้ทำความผิดที่กลับตัวแล้ว หรือการให้อภัยแก่กันและกันไม่ผูกอาฆาตปองร้ายกันกับผู้ที่มีกรณีทะเลาะวิวาทกัน ก็ถือว่าเป็นการให้เหมือนกัน โดยเฉพาะการให้อภัยนั้น ถือว่าเป็นการให้ที่ประเสริฐ ทำให้ไม่ต้องมีเวรต่อกันและกันต่อไปอันเป็นเรื่องที่ทนทุกข์ทรมานไปนานแสนนาน มีผลเทียบเท่ากับการให้ทานซึ่งถือว่าชนะการให้ทุกอย่าง ดังพระพุทธพจน์ว่า สพฺพาทานํ ธรรมทานํ ชินาติ การให้ทานชนะการให้ทั้งปวง[๑๔]
การผูกพยาบาทอาฆาตต่อกันก็เป็นการก่อเวรไม่มีที่สิ้นสุด ดังพระพุทธพจน์ว่า
อกฺโกจฺฉิ มํ อวธิ มํ อหาสิ เม
เย จ ตํ อุปนยฺหนฺติ เวรํ เตสํ น สมฺมติ
ผู้ที่เข้าไปผูกเวรว่า ผู้นั้นได้ด่าเรา ได้ฆ่าเรา
ได้เบียดเบียนเรา  เวรของพวกเขาย่อมไม่ระงับ[๑๕]
จากพระพุทธพจน์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่า การผูกพยาบาท อาฆาตต่อกันไม่สามารถทำให้เวรกรรมสิ้นสุดได้ และไม่สามารถทำศัตรูให้เป็นมิตรได้ การให้อภัยแก่กันเป็นแนวทางในการตัดเวรตัดกรรมกับเจ้ากรรมนายเวรที่ดีสุด มีคุณค่ามากเปรียบเสมือนการให้ธรรมทาน เพราะฉะนั้นผู้บริหารจึงไม่ควรผูกเวรกับใครเพราะนอกจากจะทำให้เสียเพื่อนร่วมงานร่วมธุรกิจแล้วยังเป็นการสร้างเจ้ากรรมนายเวรใหม่ให้กับตัวเองด้วย
๓.๒ การบริหารตามหลักปิยวาจา
คำพูดไพเราะ หรือการใช้วาจาสุภาพอ่อนโยนกับเพื่อนร่วมงานกับคนในครอบครัว จะทำให้ผู้ฟังรู้สึกประทับใจและมีกำลังในการทำงาน การใช้คำพูดมีประโยชน์ต่อการบริหารงานหรือต่อการดำเนินชีวิตเป็นอย่างยิ่ง สุนทรภู่ นักกวีเอกของโลกได้ประพันธ์บทกลอนเกี่ยวกับการใช้วาจาไว้หลายสำนวน เช่น ว่า
อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก
แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย
แม้นเจ็บอื่นหมื่นแสนจะแคลนคลาย
เจ็บจนตายเพราะเหน็บให้เจ็บใจ
อีกบทหนึ่งว่า
ถึงบางพูด พูดดีเป็นศรีศักดิ์
มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร
จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา[๑๖]
ในชาดกมีเรื่องโคนันทิวิสาล เป็นตัวอย่าง โคนันทิวิสาล เป็นสัตว์กตัญญูต่อเจ้าของเป็นวัวมีกำลังพิเศษสามาราถลากเกวียนร้อยเล่มได้ อยู่มาวันหนึ่งโคนันทิวิสาลคิดสงสารเจ้าของที่ลำบากทำงานหนักเพราะฐานะยากจน จึงบอกพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าของว่าให้ไปท้าพนันแข่งขันลากเกวียนที่บรรทุกของเต็มทุกเล่มจำนวนหนึ่งร้อยเล่มกับเศรษฐีว่า วัวของเขาสามารถลากเกวียนให้เคลื่อนที่จากเกวียนเล่มสุดท้ายไปถึงที่ที่เกวียนเล่มแรกจอดอยู่ได้ เจ้าของก็ไปท้าพนันแต่พอถึงวันแข่งขันเจ้าของกลับใช้วาจาไม่สุภาพกับโคตัวเองทั้งๆ ที่โคไม่เคยเป็นอย่างนั้นมาก่อน คือใช้คำว่า เจ้าโคโกงจงลากเกวียนไป โคได้ฟังแล้วก็หมดกำลังใจจึงยืนอยู่กับที่ไม่ยอมลากเกวียนไป  ทำให้เจ้าของแพ้การพนัน พอกลับมาถึงบ้านเจ้าของเสียใจมากนั่งซึมเศร้าอยู่ โคนันทิวิสาลเห็นเจ้าของนั่งคอตกด้วยความเสียใจ จึงเข้าไปปลอบว่า พ่อไม่ต้องเสียใจให้ไปท้าพนันใหม่ แต่คราวนี้พ่อต้องใช้คำพูดดีๆ ไม่ให้พูดว่า โคโกง เพราะเขาไม่ชอบ เจ้าของฟังแล้วจึงไปท้าพนันใหม่ คราวนี้เจ้าของพูดกับโคด้วยคำไพเราะ ทำให้โคมีกำลังใจ ลากเกวียนไปได้รับชัยชนะ[๑๗]
จากตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า การใช้วาจาสุภาพอ่อนโยน ทำให้ผู้ฟังเกิดสบายใจมีกำลังใจพร้อมที่จะทำงานทุกอย่างแม้จะยากลำบากก็ไม่ยอมย่อท้อ ไม่ว่าแต่การใช้คำสุภาพอ่อนโยนกับมนุษย์เท่านั้นแม้แต่สัตว์เดรัจฉานยังต้องการคำพูดไพเราะ สุภาพอ่อนโยน
การที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชตอบปฏิเสธเมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ของฝรั่งเศสส่งศาสนทูตมาเชิญให้เข้ารีตคือเข้านับถือศาสนาคริสต์ด้วยพระองค์ทรงใช้วาจาที่ไพเราะว่า ถ้าเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า  พระองค์คงจะดลใจให้เข้านับถือเอง การที่พระเจ้าไม่ทรงดลใจอย่างนั้นคงเป็นเพราะพระประสงค์ของพระเจ้าที่ไม่ต้องการให้เข้ารีตด้วย การตอบปฏิเสธของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในครั้งนั้นไม่ทำให้ฝรั่งเศสเสียใจอะไร ไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์ต่อกันลดน้อยลง ลักษณะอย่างนี้ถือว่าเป็นการใช้ปิยวาจาในการบริหารที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง[๑๘]
ปิยวาจา ไม่ได้หมายความว่า วาจาอ่อนหวานเป็นที่รักแก่ผู้ฟังอย่างเดียว วาจาที่เปล่งออกไปแล้วทำให้ผู้ฟังได้สติ ได้ข้อคิดสะกิดใจสามารถเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนความคิดผิดเป็นความคิดถูกก็ถือว่า ปิยวาจา เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างที่พระองค์ทรงใช้วาจาโต้ตอบข้อกล่าวหาของเวรัญชพราหมณ์ที่ไปกล่าวหาพระองค์ต่างๆ เช่น ว่าพระองค์เป็นคนชอบกำจัด คือทำลายประเพณีเดิมๆ ของพวกพราหมณ์ พระองค์ทรงยอมรับว่าพระองค์ชอบกำจัด แต่ทรงกำจัดในความหมายของพระองค์คือชอบกำจัดกิเลส กำจัดความแข็งกระด้าง ความก้าวร้าว ด้วยการวางหลักพระวินัยให้พระสาวกได้ใช้เป็นเครื่องฝึกหัดปรับปรุงพฤติกรรมให้ดีงามน่าเลื่อมใส  ลีลาการใช้วาจาตอบโต้ในลักษณะอย่างนี้ของพระองค์ทำให้เวรัญชพราหมณ์ยอมรับนับถือและยอมมอบตัวเป็นสาวก รับเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดไป[๑๙]
๓.๓ การบริหารตามหลักอัตถจริยา
อัตถจริยา คือ การประพฤติให้เป็นประโยชน์ทั้งฝ่ายตนเองและคนอื่น หมายความว่า ต้องไม่ให้เสียประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ผู้บริหารต้องพัฒนาตนเองหรือสร้างฐานะของตนให้มั่นคงเสียก่อน และในขณะเดียวกันก็ไม่ละเลยประโยชน์ของเพื่อนร่วมงานหรือของคนรอบข้างหรือประโยชน์ที่เป็นสาธารณชนทั่วไป เช่น เข้าร่วมกิจกรรมส่วนรวมอย่างสม่ำเสมอ ตามโอกาส อันควร ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนฝ่ายเดียว การทำอย่างนี้จะทำให้เพื่อนร่วมงานและคนรอบข้างเกิดความประทับใจ แสดงถึงความมีน้ำใจของผู้บริหาร หรือผู้นำองค์กร ผู้นำครอบครัว เมื่อถึง คราวต้องทำประโยชน์ตนบ้างที่ต้องใช้คนช่วยเป็นจำนวนมาก ก็สามารถที่จะขอกำลังความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานและคนรอบข้างได้ และคนเหล่านั้นก็พร้อมที่จะช่วยเหลืออย่างภูมิใจอย่างเต็มใจ หรือถึงแม้ว่าการทำเพื่อประโยชน์ของคนอื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ก็เป็นการประพฤติประโยชน์ในความหมายนี้เหมือนกัน
ในเรื่องนี้พระพุทธองค์ทรงทำเป็นตัวอย่างมาแล้วตอนที่พระองค์ทรงบำรุงภิกษุอาพาธรูปหนึ่ง พระองค์เห็นภิกษุอาพาธถูกพวกภิกษุทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพังจึงเสด็จไปช่วยทำชำระร่างกายแล้วแสดงพระธรรมเทศนาให้ฟัง หลังจากนั้นพระองค์จึงตรัสพระดำรัสว่า ใครต้องการหรือปรารถนาจะอุปัฏฐากพระองค์ขอให้อุปัฏฐากภิกษุอาพาธ แล้วรับสั่งให้ภิกษุดูแลกันและกันเพราะว่าพวกเราได้สละครอบครัวญาติพี่น้องมาแล้ว ถ้าเราไม่ดูแลกันใครจะมาดูแล[๒๐]
๓.๔ การบริหารตามหลักสมานัตตตา
สมานัตตตา คือ การนำตนเข้าไปเชื่อสมานกับคนอื่น หรือการวางตนให้เสมอต้นเสมอปลายกับคนอื่นไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ร่วมสถาบันต่างๆ ในอาฬวกสูตร ตอนที่พระองค์ไปทรมานอาฬวกยักษ์ดุร้าย พระองค์ทรงทำตามที่ยักษ์สั่ง คือ ยักษ์สั่งให้ทำอะไรพระองค์ก็ทำตาม คือ ตอนแรกพระองค์ประทับอยู่ในที่พักของยักษ์ ยักษ์จึงสั่งให้พระองค์ออกมาจากที่พัก พระองค์ก็เสด็จออกมา ยักษ์สั่งให้พระองค์เข้าไป พระองค์ก็เสด็จเข้าไป ทำอย่างนี้ถึงสามครั้ง ครั้งที่สี่ยักษ์สั่งพระองค์เหมือนเดิมแต่พระองค์ไม่ยอมทำตามแล้วบอกกับยักษ์ว่า เธอจะทำอะไรก็ทำฉันจะไม่ออกไปอีกแล้ว ยักษ์พูดว่า เขาจะจับพระองค์ที่เท้าแล้วขว้างไปฟากฝั่งมหาสมุทรด้านโน้น พระองค์ตรัสว่า ในโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก พระองค์ยังไม่เห็นใครที่จะทำกับพระองค์ได้อย่างนั้น ว่าแล้วจึงสั่งให้ยักษ์ทำในสิ่งที่อยากทำ ยักษ์เห็นว่าคงทำอะไรพระพุทธเจ้าไม่ได้จึงถามปัญหากับพระองค์ พระองค์แก้ปัญหาได้จนทำให้อาฬวกยักษ์พอใจและยอมเป็นสาวก[๒๑]
จากตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า การลดความต้องการในส่วนของตนแล้วไปเพิ่มให้คนรอบข้างสามารถทำให้คนไม่ดีกลายเป็นคนดีได้ ถึงแม้ว่าผู้ที่เราจะเพิ่มให้นั้นมีเจตนาไม่ดีก็ตาม การทำอย่างนั้นประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ดังอาฬวกยักษ์นี้
การเอาใจเขามาใส่ใจเราเป็นเรื่องสำคัญในการผูกมิตรไมตรีกับผู้อื่นหรือกับคนรัก ตัวอย่างการนำตนเข้าไปสมานกับคนอื่น เช่น ภรรยากับสามี ภรรยาควรคอยสอบถามเอาใจใส่สามีและคอยให้กำลังใจ อาทิ ถ้าสามีกลับจากที่ทำงาน ภรรยาเห็นก็ควรจะเข้ามาทักทายด้วยถ้อยคำที่แสดงถึงความเป็นห่วง เช่นว่า งานเป็นอย่างไรบ้าง วันนี้เหนื่อยไหม งานหนักไหม  มาเหนื่อยๆ ดื่มน้ำเย็นๆ สักแก้วก่อนนะ ว่าแล้วก็นำน้ำดื่มมาให้สามี ลักษณะ อย่างนี้ เรียกว่าภรรยาเอาตัวเข้าไปสมานกับสามี  หรือ กรณีบุตรธิดากับบิดามารดา เช่น ลูกกลับจากโรงเรียนก่อนบิดามารดา ก็ช่วยทำงานบ้านรอ ถ้าเห็นบิดามารดากลับจากที่ทำงานก็วางงานของตนไว้ก่อนเข้าไปไหว้และถามบิดามารดาด้วยถ้อยคำสุภาพอ่อนโยน อาทิ หวัดดีครับหวัดดีคะพ่อ แม่ วันนี้ทำงานเหนื่อยไหม ดื่มน้ำก่อนนะหรือทานของว่างก่อนนะ หนูจะจัดให้ หรือถามว่า พ่อ แม่ ปวดเมื่อยตรงไหน หนูจะนวดให้ อย่างนี้ถือว่า ลูกได้เอาตัวเองเข้าไปสมานกับพ่อแม่
ถ้าครอบครัวใดปฏิบัติอย่างนี้จะทำให้คนในครอบครัวมีความสุข อยู่ด้วยกันด้วยความรักความเมตตาต่อกัน แต่ละคนก็จะมีกำลังในการทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ และงานก็จะประสบความสำเร็จ
ตัวอย่างเรื่องสามีเอาตัวเองไปเชื่อมสมานกับภรรยา ลดประโยชน์หรือความต้องการของตนเพื่อความสุขของภรรยา เช่น เรื่องนางพญาปลาดุก  ตอนที่พระนางพิมพาเถรี จะเสด็จปรินิพพาน พระนางได้ไปทูลลาพระผู้มีพระภาค แล้วขอขมาโทษล่วงเกินเผื่อว่าจะมีอยู่บ้างด้วยความพลั้งพลาด ทั้งในอดีตชาติและในชาติปัจจุบัน พระนางได้พูดถึงอดีตชาติตอนที่เป็นปลาดุก ขณะที่นางตั้งครรภ์ นางคิดอยากกินหญ้าอ่อน เพื่อบำรุงร่างกาย นางปลาดุกจึงบอกปลาดุกผู้สามีให้ไปคาบเอาหญ้าอ่อนมาให้  ด้วยความรักที่มีต่อภรรยา สามีก็ไป ไปถึงทุ่งนาแห่งหนึ่ง ขณะนั้นมีพวกเด็กเลี้ยงวัวยืนอยู่เป็นจำนวนมาก ปลาดุกพระโพธิสัตว์ก็หาจังหวะอยู่ พอพวกเด็กเผลอ ปลาดุกก็กระโดดกัดเอาหญ้าอ่อน พอพวกเด็กเห็นเท่านั้น ก็พากันรุมจับปลาดุกอย่างชุลมุน เอาไม้ตีที่หางปลาดุกจนหางขาด ปลาดุกพยายามหนีจนรอดชีวิตมาได้แต่ก็ได้รับบาดเจ็บสาหัส พอไปถึงก็คลายหญ้าอ่อนออกให้ภรรยาแล้วนอนหันหางให้ภรรยาดูบาดแผล ไม่นานนักก็สลบไปเพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว พระนางพิมพาเถรีเล่าเรื่องนี้เพื่อจะขอขมาสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ว่าในชาตินั้นพระนางได้ทำให้พระองค์ลำบากเพราะความอยากของนาง  ขอให้พระองค์ผู้เคยเป็นพระสวามีอดโทษให้ ขออย่าได้เป็นเวรภัยต่อนาง และชาตินี้ก็เป็นชาติสุดท้ายแล้ว ต่อไปจะไม่ได้พบกันอีกแล้ว[๒๒]
จากตัวอย่างนี้เป็นการใช้สมานัตตตาคือการเอาตนเข้าไปเชื่อมสมานกับคนรอบข้างเป็นการลดความต้องการในส่วนของตนแล้วไปเพิ่มให้กับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นสามีกับภรรยา หรือบิดามารดากับบุตรธิดา เป็นต้น ถ้าครอบครัวใดหรือองค์กรใดปฏิบัติอย่างนี้ จะนำความสุขความเจริญรุ่งเรืองมาสู่องค์กรและครอบครัวตลอดไป


๔. บทสรุป
การบริหารงานตามหลักสังคหวัตถุในพระพุทธศาสนาเป็นหลักการยึดเหนี่ยวจิตใจของกันและกันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ในการผูกมิตรไมตรีต่อกัน ผู้บริหารควรยึดเอาเป็นแนวทางในการบริหารงานในครอบครัวและในองค์กรที่รับผิดชอบอยู่หลักการนี้พระพุทธองค์ทรงรับรองหรือเป็นพุทธพจน์ที่ไม่มีความหมาย ๒ นัย หมายความว่าพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ไม่มีนัยเป็นอย่างอื่นจากที่ทรงพยากรณ์ไว้ ความสำเร็จของงานคือจุดหมายสูงสุดของการบริหาร การที่มีศัตรูเพียงหนึ่งคนก็ถือว่ามาก การที่เรารู้จักคนเพียงคนเดียวก็ถือว่าน้อยมาก  การที่จะไม่มีศัตรูและการที่จะรู้จักคนหลายคน มีหลักการและวิธีการที่พระพุทธองค์ได้วางไว้แล้วชื่อว่า หลักสังคหวัตถุ เป็นหลักคำสอนที่ให้ประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ผู้ปฏิบัติตามตั้งแต่อดีตเมื่อสองพันกว่าปีจนถึงปัจจุบันยังไม่มีทฤษฎีใดมาล้มล้างได้



























[๑] สำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอ้างใน http://www.space.mict.go.th/astronomer.php?name=galileo  (๒๓  สิงหาคม ๒๕๕๕).
[๒] สำนักงานกองทุนกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวิชาการดอทคอม, อ้างใน http://www.vcharkarn.com/varticle/40783  (๒๓  สิงหาคม ๒๕๕๕).
[๓] สำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, อ้างแล้ว.
[๔] สำนักงานกองทุนกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวิชาการดอทคอม, อ้างแล้ว.
[๕] สำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, อ้างแล้ว.
[๖] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์, พิมพ์ครั้งที่ ๑๖, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ บริษัท สหธรรมิก จำกัด, ๒๕๕๔), หน้า ๔๑๒.
[๗] องฺ.ทุก. (ไทย) ๒๐/๑๔๒/๑๒๐. ดูเพิ่มเติมใน พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๖), หน้า ๖๒. 
[๘] ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๓๐๕/๒๖๙.
[๙] องฺ.ปญฺจก. (บาลี) ๒๒/๓๕/๓๕, องฺ.ปญฺจก. (ไทย) ๒๒/๓๕/๕๖.
[๑๐] สํ.ส. (บาลี) ๑๕/๒๔๖/๑๕๘,  สํ.ส. (ไทย) ๑๕/๒๔๖/๓๕๓.อง.ปญฺจก. (ไทย) ๒๕/๑๘๙/๕๔๔.
[๑๑] พระพุทธโฆสเถระ, วิสุทธิมรรค, ภาค ๒, แปลโดย สภาวิชาการมหามกุฏราชวิทยาลัย.      วิสุทฺธิ. (ไทย) ๒/๖๘.
[๑๒] ดูรายละเอียดใน ขุ.ธ.อ. (ไทย) ๖/๒๐๕-๒๑๑.
[๑๓] http://www.gotomanager.com (๒๒  สิงหาคม ๒๕๕๕).
[๑๔] ขุ.ธ. (บาลี) ๒๕/๓๕๔/๓๕, ขุ.ธ. (ไทย) ๒๕/๓๕๔/๑๔๔. 
[๑๕] ขุ.ธ. (บาลี) ๒๕/๓/๘, ขุ.ธ. (ไทย) ๒๕/๓/ ๒๔.  
[๑๖] กลอนสุนทรภู่ รวมกลอนสุนทรภู่  อ้างใน http://www.zoneza.com (๒๓  สิงหาคม ๒๕๕๕).
[๑๗] ขุ.ชา.อ. (บาลี) ๑/๑๓๗-๑๓๙.  ขุ.ชา.อ. (ไทย) ๑/๕๐-๕๒.
[๑๘] http://th.wikipedia.org/wiki (๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๕)
[๑๙] วิ.ม.อ. (ไทย) ๑/๑๐๐.
[๒๐] พระภิกษุรูปนั้นชื่อว่า พระปูติคัตตติสสะ ดูรายละเอียดใน  ขุ.ธ.อ. (ไทย) ๒/๑๗๗-๑๘๐.
[๒๑] ดูรายละเอียดใน ขุ.อิติ. (ไทย) ๒๕/๑๙๑/๕๔๕.
[๒๒]  พระพรหมโมลี (วิลาส  ญาณวโร ป.ธ. ๙), วิมุตติรตนมาลี, อ้างใน เว็บบล็อกบ้านพี่พลอย, http://bannpeeploy.exteen.com/ (๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๕).

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น