วันอาทิตย์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558
การบริหารงานตามหลักทิศ ๖ ในพระพุทธศาสนา : กรณีการบริหารงานกับบุคคลผู้อยู่ทิศเบื้องหน้า (ทิศตะวันออก) บิดามารดา
การบริหารงานตามหลักทิศ ๖ ในพระพุทธศาสนา :
กรณีการบริหารงานกับบุคคลผู้อยู่ทิศเบื้องหน้า (ทิศตะวันออก) บิดามารดา
๑. บทนำ
ตอนเช้าวันหนึ่งขณะที่พระพุทธองค์กำลังเสด็จเข้าไปสู่นครราชคฤห์เพื่อบิณฑบาตได้ทอดพระเนตรเห็นสิงคาลมาณพ กำลังยืนไหว้ทิศต่างๆ อยู่ พระองค์จึงตรัสถามว่า ทำอะไรอยู่ เขากราบทูลว่า กำลังไหว้ทิศต่างๆ ตามคำสอนของบิดาอยู่ เขากราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ก่อนบิดาเสียชีวิต บิดาสั่งไว้ให้ไหว้ทิศทั้ง ๖ เขาจึงทำตามตลอดมา พระพุทธองค์จึงตรัสกับเขาว่า ในอริยวินัย (ธรรมเนียมแบบแผนของพระอริยะ) ไม่ได้ไหว้ทิศทั้ง ๖ อย่างนี้ แต่หมายถึงให้ไหว้บุคคลที่ควรไหว้ ๖ จำพวก ว่าแล้ว พระองค์ก็ตรัสแสดงบุคคลประจำทิศทั้ง ๖ ให้สิงคาลมาณพฟัง ดังมีเนื้อความปรากฏในสิงคาลกสูตร ในทีฆนิกายนั้น[๑]
ในบทความนี้ผู้เขียนจะได้ศึกษาวิเคราะห์การบริหารงานตามหลักทิศ ๖ หรือการบริหารงานที่มีความเกี่ยวข้องกับบุคคลทั้ง ๖ จำพวกที่พระพุทธองค์ทรงหมายถึงนั้นว่า มีความสำคัญกับการดำเนินชีวิตอย่างไร เพราะเหตุไรพระองค์จึงให้เคารพในบุคคลเหล่านั้น ถ้าไม่เคารพจะเกิดผลอย่างไร ถ้าเคารพจะมีผลอย่างไร
๒. ความหมายของทิศ ๖
คำว่า ทิศ ๖ ในที่นี้หมายถึง บุคคลที่เกี่ยวข้องกัน มี บิดามารดา บุตรธิดา ครูอาจารย์ สามีภรรยา เพื่อสหาย คนใช้ผู้ใต้บังคับบัญชา และสมณพราหมณ์[๒]
๓. วิเคราะห์การบริหารงานกับบุคคลผู้อยู่ทิศเบื้องหน้า (ทิศตะวันออก) บิดามารดา
บุคคลในทิศทั้ง ๖ คือบุคคลที่ผู้อยู่ครองเรือนมีความเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน ในจำนวนบุคคลเหล่านั้น อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกันทั้ง ๖ จำพวกในเวลาเดียวกัน แต่ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกันไม่โดยตรงก็โดยอ้อม ผู้ที่เราเกี่ยวข้องจำพวกแรกคือบิดามารดา เมื่อมีความเกี่ยวข้องกันจะปฏิบัติต่อกันอย่างไรจึงจะถือว่าปฏิบัติถูกต้องตามพุทธประสงค์ เพราะบิดามารดา ถือว่า เป็นบุพการีของบุตรธิดา คือ เป็นผู้มีอุปการะที่เคยทำไว้แก่บุตรธิดา เป็นพรหมของบุตรธิดา เป็นครูคนแรกของบุตรธิดา เป็นพระอรหันต์ในบ้านของบุตรธิดา[๓] หน้าที่ของบิดามารดาที่ท่านทำให้แก่บุตรธิดาตามหลักพระพุทธศาสนามี ๕ อย่าง คือ ๑) ห้ามจากความชั่ว ๒) สั่งสอนให้เป็นคนดี ๓) ให้การศึกษา ๔) หาคู่ครองที่เหมาะสมให้ ๕) มอบทรัพย์สมบัติให้ในสมัยที่ควร[๔]
ประเด็นที่ต้องการทราบคือ เพราะเหตุไรพระพุทธองค์จึงจัดให้บิดามารดาเป็นทิศเบื้องหน้า บิดามารดา มีความสำคัญต่อบุตรอย่างไร ถ้าบุตรปฏิบัติต่อบิดามารดาไม่ดี ผลจะเป็นอย่างไร ถ้าปฏิบัติดี ผลจะเป็นอย่างไร จะได้ศึกษาในรายละเอียดต่อไป
๓.๑ บิดามารดามีความสำคัญอย่างไร
มีข้อความที่ปรากฏในมงคลัตถทีปนี ซึ่งเป็นผลงานประพันธ์ของพระเถระชาวเชียงใหม่ชื่อว่า พระสิริมังคลาจารย์ ตอนว่าด้วย การบำรุงบิดามารดา ท่านได้พรรณนาไว้ว่า บิดามารดา แม้ผู้ดำรงอยู่ในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ถ้ามีความต้องการการดูแลเลี้ยงดูจากบุตรธิดา บุตรธิดาก็ต้องเลี้ยงดูท่านทั้งสองให้ดี ท่านยังได้อธิบายต่อไปอีกว่า การเลี้ยงดูบิดามารดาที่ถูกต้อง คือ การชักชวนให้ท่านทั้งสองเกิดศรัทธาในพระรัตนตรัย ให้ท่านทั้งสองมีโอกาสได้ปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่สติปัญญา เพื่อนำตนให้พ้นจากความทุกข์ในสังสารวัฏ การเลี้ยงดูด้วยการทำอย่างอื่นยังไม่ถือว่าเป็นการตอบแทนอย่างถูกต้อง ในคัมภีร์กล่าวว่าแม้ลูกจะยกบิดาขึ้นไว้บนบ่าข้างขวา ยกมารดาขึ้นไว้บนบ่าข้างซ้ายเลี้ยงดูท่านตลอดอายุไขของท่าน ถึงท่านจะถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะรดลงมาก็ตามยังไม่ถือว่าได้ตอบแทนบุญคุณที่ถูกต้อง อาจจะมีคำถามว่า เพราะเหตุไร ลูกทำถึงขนาดนี้แล้วยังไม่ถือว่าได้ตอบแทนบุญคุณที่ถูกต้อง ตอบว่า เพราะการทำอย่างนั้นไม่สามารถทำให้ท่านทั้งสองที่เป็นมิจฉาทิฐิหายจากความเป็นมิจฉาทิฐิได้ ไม่สามารถทำให้ท่านทั้งสองผู้ไม่มีศรัทธากลายเป็นคนมีศรัทธาได้ ต่อเมื่อชักชวนท่านเข้ามานับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะแล้วได้รับฟังพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากพระสงฆ์แล้วจึงจะทำให้หายจากความเห็นผิด กลายเป็นผู้มีศรัทธาได้ เมื่อมีศรัทธาแล้วก็จะบำเพ็ญบุญอย่างอื่นต่อไปได้ เช่น การรักษาศีล การเจริญภาวนา ตามลำดับ
ในมงคลสูตร[๕] การบำรุงมารดาบิดา เป็นมงคลสูงสุดของบุตรธิดา จากข้อความนี้จะเห็นว่า บิดามารดามีพระคุณอย่างยิ่งใหญ่สำหรับลูก ลูกคนใดที่เลี้ยงดูบิดามารดาจะเจริญรุ่งเรืองในการดำเนินชีวิต
ในมังคลัตถทีปนี พระสิริมังคลาจารย์ นำเอาเรื่องพญาช้างเผือกในชาดกมาประกอบการอธิบายในมงคลข้อว่า การบำรุงมารดาบิดา ความย่อว่า ในอดีตกาลมีตัวอย่างหลายเรื่องตอนที่พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ได้ประพฤติมาแล้ว เช่น ตอนที่พระองค์เกิดเป็นพญาช้างเผือก เป็นช้างมีลักษณะพิเศษ ผิวเผือก งาดำ เล็บดำ เป็นหัวหน้าแห่งช้างในป่าปกครองพวกช้างด้วยกัน ในขณะเดียวกันก็เลี้ยงแม่ที่ตาบอดด้วย อยู่ต่อมาเมื่อแม่ชราภาพมากไม่สามารถช่วยตัวเองได้ จึงตัดสินใจมอบหน้าที่ให้ช้างอื่นเป็นหัวหน้าดูแลเพื่อนช้างแทน ตัวเองพาแม่หนีเข้าไปอยู่ในป่าลึกห่างไกลจากถิ่นมนุษย์และโขลงช้าง เพื่อจะได้มีเวลาเลี้ยงดูแม่อย่างเต็มที่ อยู่มาวันหนึ่งมีนายพรานหลงเข้าไปในป่าไม่สามารถหาหนทางกลับบ้านได้ ช้างพระโพธิสัตว์เห็นก็สงสารจึงนำมาส่งที่ถิ่นของมนุษย์ทาง ก่อนจะจากกันช้างบอกกับนายพรานว่า ท่านไปจากที่นี่แล้วอย่าไปบอกใครว่า เราอยู่ที่นี่เพราะจะเกิดอันตรายแก่เรา เรามีหน้าที่ต้องเลี้ยงดูมารดาตาบอด แต่นายพรานเป็นคนสันดานหยาบช้า ไม่นึกถึงบุญคุณที่ช้างช่วยชีวิตไว้ นำเรื่องไปกราบทูลแก่พระราชา พระราชาจึงรับสั่งให้จัดกองทับช้างออกไปจับช้างธนบาล ช้างธนบาลถึงแม้ว่ามีกำลังสามารถที่จะสู้กับขบวนช้างของพระราชาได้ แต่ก็ไม่ทำเพราะไม่อยากสร้างเวรสร้างกรรมต่อกัน ได้แต่คิดในใจว่า อันตรายที่เกิดขึ้นกับตัวในครั้งคงจะมาจากนายพรานป่าแน่นอนคิดแล้วก็หันไปดูรอบๆ เห็นนายพรานคนที่เคยช่วยเหลือไว้รวมอยู่ในคณะนั้นด้วย จึงพูดกับนายพรานว่า เราช่วยชีวิตท่าน แต่ท่านกลับตอบแทนเราด้วยเรื่องแบบนี้ ว่าแล้วก็จึงยอมให้พวกนายครวญช้างของพระราชาจับตัวไป พระราชารับสั่งให้สร้างโรงช้างอย่างดีไว้ต้อนรับช้างธนบาล จัดอาหารอย่างดีไว้ให้ทุกวัน ช้างธนบาลก็ไม่ได้ยินดีกับอาหารและที่อยู่อย่างหรูหราเหล่านั้นเพราะในใจคิดถึงแต่แม่ ป่านนี้คงจะร้องหาลูกแล้ว อาหารที่หาเตรียมไว้ก็คงจะหมด แม่คงลำบากมากถ้าไม่มีลูกอยู่ด้วย แม้ว่าพระราชาจะหาอาหารอย่างดีมาให้ ช้างพระโพธิสัตว์ก็ไม่ยอมกิน พระราชาจึงถามเอาความจริง เมื่อทราบเนื้อความแล้วก็เกิดความสลดสังเวชใจ จึงตรัสสินพระทัยปล่อยพญาช้างกลับไปหาแม่เหมือนเดิม[๖]
จากตัวอย่างเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า แม้พระพุทธองค์เมื่อครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ก็เคยบำรุงบิดามารดามาแล้ว แม้แต่กุลบุตรที่เข้ามาบวชเป็นภิกษุแล้วพระองค์ก็ไม่ห้ามให้เลี้ยงดูมารดาบิดา อาหารบิณฑบาตที่ได้มาจากการบิณฑบาตยังอนุญาตให้ภิกษุให้แก่มารดาบิดาก่อนได้ ไม่ปรับอาบัติ และไม่เป็นการทำให้ศรัทธาไทยตกไป[๗] มีตัวอย่างในสมัยพุทธกาล มีภิกษุรูปหนึ่งบิณฑบาตเลี้ยงมารดา จนพวกภิกษุติเตียนแล้วนำเรื่องไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค พระองค์รับสั่งให้ประชุมสงฆ์แล้วตรัสเรียกภิกษุรูปนั้นมาสอบถาม เมื่อทราบเนื้อความแล้วพระองค์ทรงเปล่งสาธุการกับภิกษุนั้นว่า ดีละ ภิกษุ เธอทำดีแล้ว แม้เราก็เคยทำอย่างนี้มาแล้ว[๘]
การเลี้ยงดูบิดามารดาเป็นการใช้หนี้เก่า คือหนี้ที่ท่านเคยเลี้ยงดูเรามาก่อน ผู้เป็นบุตรธิดาถือเป็นลูกหนี้ของบิดามารดา เพราะฉะนั้น ผู้เป็นลูกหนี้ต้องใช้หนี้คืนเจ้าหนี้เมื่อถึงคราวต้องใช้คืน ในเรื่องนี้พระพุทธองค์เคยทำเมื่อตอนเสวยพระชาติเป็นพญานกแขกเต้า มีเรื่องย่อว่า พญานกแขกเต้าตัวเป็นหน้า ไปกินข้าวสาลีในนาของโกสิยพราหมณ์ กินแล้วก็คาบกลับไปทุกวัน อยู่มาวันหนึ่งคนเฝ้านาของพราหมณ์ทนไม่ไหวเพราะไม่สามารถจะไล่นกให้หนีไปไม่กลับมากินข้าวสาลีอีกได้จึงนำความไปบอกแก่โกสิยพราหมณ์ว่า พวกนกแขกเต้ามากินข้าวที่นาทุกวัน จนข้าวในนาใกล้จะหมดแล้ว นกส่วนมากกินแล้วก็บินกลับไปเฉยๆ แต่มีนกอยู่ตัวหนึ่งรูปร่างสวยงามกินแล้วยังคาบกลับไปทุกวัน พราหมณ์จึงสั่งให้คนเฝ้านาเอาตาข่ายไปดักจับนกแขกเต้าตัวนั้น พอจับมาได้พราหมณ์ก็ถามนกแขกเต้าว่า เรากับท่านเคยเป็นคู่เวรของกันและกันมาก่อนหรือ เราไปทำอะไรให้แก่ท่านหรือ ทำไมท่านจึงทำกับเราแบบนี้คือมากินข้าวที่นาแล้วยังคาบกลับไปอีก นกแขกเต้าตอบว่า ที่คาบกลับไปนั้นไม่ได้เอาไปเก็บสั่งสมไว้ แต่เอากลับไปใช้หนี้เก่า ให้กู้หนี้ใหม่ และฝังไว้เพื่อเป็นทรัพย์ต่อไปในภายหน้า พราหมณ์ได้ฟังนกแขกเต้าพูดอย่างนั้นจึงถามเอาข้อเท็จจริง นกแขกเต้าจึงเล่าให้ฟังว่า ที่ว่า ใช้หนี้เก่า คือ เอาไปเลี้ยงบิดามารดา ในฐานะที่ท่านเลี้ยงเรามาเราต้องเลี้ยงท่านตอบแทน เป็นการใช้หนี้เก่า ที่ว่าให้กู้หนี้ใหม่ หมายถึงเอาไปเลี้ยงลูกๆ ที่ยังตัวเล็กอยู่ไม่สามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ พวกลูกๆ ที่เราเลี้ยงเขาในตอนนี้ในอนาคตเขาจะเลี้ยงเราตอบแทนเหมือนกับที่เราเลี้ยงบิดามารดาทุกวันนี้ ที่ว่า เอาไปฝังไว้เป็นขุมทรัพย์ หมายถึง เอาไปให้แก่นกแขกเต้าตัวอื่นๆ ที่ทุพพลภาพไม่สามารถหากินเองได้ โกสิยพราหมณ์ได้ฟังแล้วเกิดความเลื่อมใสในนกแขกเต้าจึงมอบที่นาให้นกแขกเต้าพร้อมด้วยบริวารให้มากินได้ตามสบาย และจะดูแลความปลอดภัยให้นกทุกตัว ไม่ต้องกลัวจะถูกจับ[๙]
จากตัวอย่างนี้จะเห็นว่า บิดามารดามีความสำคัญต่อบุตรธิดาอย่างยิ่ง การเลี้ยงมารดาบิดาเป็นการใช้หนี้เก่า ที่ท่านเคยเลี้ยงเรามา ลูกที่ดีต้องเลี้ยงท่านตอบแทนเมื่อถึงคราวที่เหมาะสม หรือเมื่อตัวเองสามารถเลี้ยงตัวเองได้แล้ว ผู้ที่มีความกตัญญู ในทางพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นบุคคลหาได้ยาก ซึ่งบุคคลที่หาได้ยากในพระพุทธศาสนามี ๒ จำพวก คือ บุพการีบุคคล คือบุคคลที่มีอุปการคุณในกาลก่อน และ กตัญญูกตเวที คือ บุคคลผู้รู้จักบุญคุณที่คนอื่นกระทำแก่ตนแล้ว ทำตอบแทนท่าน[๑๐]
ผู้บริหารผู้หวังความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตการงานต้องเป็นคนกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา ซึ่งเรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ผู้เป็นพระประมุขของปวงชนชาวไทยก็เคยทำเป็นตัวอย่างมาแล้ว ครั้งที่สมเด็จพระราชชนนียังมีพระชนม์อยู่พระองค์จะเสด็จไปเสวยพระกะยาหารเย็นกับพระมารดาที่วังสระปทุม ๕ วันต่อสัปดาห์เพื่อให้กำลังใจพระมารดาและอยู่พูดคุยเป็นเพื่อนของพระมารดาเกรงว่าพระมารดาจะเหงาหรือว้าเหว่[๑๑]
๓.๑.๒ ถ้าไม่เคารพบิดารมารดาจะมีผลอย่างไร
อาจจะมีคำถามว่า ถ้าเกิดว่าลูกเลี้ยงดูมารดาบิดาแล้วเกิดมีการทะเลาะมีปากมีเสียงกันซึ่งเป็นเรื่องปกติทั่วไปของปุถุชน ลูกจะเป็นบาปหรือไม่ หรือว่า บุญคุณที่เลี้ยงดูมารดาบิดาจะลดหรือหมดไปหรือไม่ คำถามนี้คงตอบได้ไม่ง่ายนักเพราะต้องดูบริบทอื่นๆ ประกอบด้วย คือดูเจตนาประกอบด้วย ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าเรื่องที่ทะเลาะกันนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร เกิดจากสาเหตุอะไร เช่น บางกรณีเกิดจากการน้อยอกน้อยใจของผู้เป็นบิดามารดาที่ลูกๆ ไม่ค่อยเอาใจใส่เนื่องจากมีภาระเพิ่มขึ้นต้องดูแลลูกๆ ส่งลูกเรียนต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้น เพื่อจะมีรายได้มาจุนเจือครอบครัว เลยทำให้เหินห่างบิดามารดาไปบ้าง ทำให้เกิดความเข้าใจผิดบิดามารดาคิดว่า ลูกไม่เอาใจใส่เหมือนเดิม ถ้าเป็นลักษณะอย่างนี้ถือว่าเป็นการเข้าใจผิดกัน ก็ควรที่จะปรับความเข้าใจกันระหว่างบิดามารดากับบุตรธิดา
ถ้าเป็นกรณีที่เป็นการจงใจจะทำด้วยความไม่ชอบกันเป็นการส่วนตัว เช่น บิดามารดาก็ควรจะให้อภัยแก่บุตรธิดา บางอย่างบุตรธิดาอาจจะทำไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือทำไปด้วยความพลั้งเผลอ แต่ถ้าบุตรธิดาทำต่อบิดามารดาด้วยเจตนา ย่อมเป็นกรรมหนักแน่นอน เช่นกรณีของกุลบุตรคนหนึ่งเชื่อคำยุยงของภรรยาหลอกมารดาบิดาตาบอดไปฆ่าในป่า โดยเอาท่อนไม้ทุบตีจนบิดามารดาเสียชีวิต ตนเองเมื่อตายจากโลกนี้แล้วไปเกิดในนรกอเวจีเสวยวิบากกรรมอยู่เป็นกัป ในชาตินี้ถึงแม้จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วยังถูกพวกโจรเอาฆ้อนทุบตีจนกระดูกแหลกละเอียดจนนิพพาน กุลบุตรในชาตินั้นคือพระโมคคัลลานะในชาตินี้[๑๒] ถ้าเป็นอย่างนี้ผู้เป็นบุตรธิดาเป็นกรรมหนัก ถ้าบิดามารดาเสียชีวิตจากน้ำมือของลูก จัดเป็นอนันตริยกรรมห้ามสวรรค์ห้ามนิพพาน ตายไปก็ตกนรกอเวจีซึ่งเป็นนรกที่มีการทรมานโหดร้ายที่สุด ถ้าเป็นกรณีที่บิดามารดาเป็นคนชอบบ่นจู้จี้ ไม่มีเหตุผลจนทำให้บุตรธิดาทนไม่ไหว ต้องโต้เถียงกลับบ้าง ลักษณะอย่างนี้ผู้เป็นบุตรธิดาก็เป็นกรรมเล็กน้อย ซึ่งสามารถทำพิธีขอขมาโทษ ในโอกาสสำคัญเช่น วันคล้ายวันเกิด เป็นต้น เพื่อให้ท่านอดโทษให้ โทษที่ล่วงเกินนั้นก็จะกลายเป็นอโหสิกรรม คือไม่เป็นกรรมต่อไป
ถ้ามีคำถามว่า ในกรณีที่บุตรธิดาคิดว่า ถ้าอยู่เลี้ยงดูบิดามารดาผู้อาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน เกรงว่าจะเกิดการทะเลาะมีปากมีเสียงกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เกรงว่าจะเป็นบาปเป็นกรรมแก่ตัวเอง จึงย้ายออกมาอยู่ตามลำพังกับครอบครัวแต่ยังเลี้ยงดูบิดามารดาเหมือนเดิม ลักษณะอย่างนี้จะถือว่าเป็นการทอดทิ้งบิดามารดาหรือไม่ ตอบว่าถ้าเป็นการยินยอมกันทั้งสองฝ่ายก็ไม่ถือว่าทอดทิ้งบิดามารดา ซึ่งกรณีนี้คล้ายกับกรณีของในหลวงปฏิบัติต่อพระชนนีดังยกเป็นตัวอย่างนั้น
กรณีที่บุตรธิดาเคยเลี้ยงดูบิดามารดาเป็นอย่างดีในอดีต แต่ต่อมากลับประพฤติต่อท่านด้วยความไม่เคารพยำเกรง ความดีที่บุตรธิดาเหล่านั้นเคยทำไว้ย่อมหมดไป เขาย่อมได้รับความทุกข์ ความยากแค้นในอนาคตดังพระพุทธพจน์ในเรื่องอังกุรเปตวัตถุว่า
บุคคลใดทำความดีไว้ในกาลก่อน
ภายหลังกลับเบียดเบียนบุพการีชนด้วยความชั่ว
บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นคนอกตัญญู ย่อมไม่พบเห็นความเจริญ[๑๓]
อาจจะมีคำถามต่อไปอีกว่า ถ้าเกิดว่าบิดามารดา แยกทางกันตั้งแต่เด็กไม่ค่อยได้รับการเลี้ยงดูจากท่านทั้งสองเลย ส่วนมากได้รับการเลี้ยงดูจากยายหรือญาติพี่น้องคนอื่น เมื่อเติบโตขึ้น บิดามารดากลับมาขออาศัยอยู่ด้วย ถ้าเราปฏิเสธไม่รับเลี้ยงโดยให้เหตุผลว่า ท่านไม่ได้เลี้ยงเรามาก่อน ลักษณะอย่างนี้จะทำอย่างไร ตอบว่า ต้องดูบริบทอื่นประกอบด้วยว่า สาเหตุที่ท่านไม่ได้เลี้ยงเราตอนเป็นเด็กเพราะแยกทางกันต่างคนต่างก็ไปมีครอบครัวใหม่ต้องไปดูแลครอบครัวใหม่ หรือมีข้อจำกัดอย่างอื่นเช่นว่า ฐานะการเงินไม่ดี ต้องปล่อยให้ลูกอยู่กับคนอื่น แต่ยังมีใจเป็นห่วงลูกอยู่เพียงแต่ไม่ค่อยได้แวะมาดูแลเยี่ยมเยียน แวะมาบ้างเป็นบางครั้งบางคราว ลักษณะอย่างนี้บุตรธิดาต้องเลี้ยงดูท่านตามความเหมาะสม จะทอดทิ้งไม่ได้
ในข้อนี้มีเนื้อความในอรรถกถาพระวินัยสิกขาบทที่ ๓ แห่งปาราชิก เป็นตัวอย่างเปรียบเทียบได้ เนื้อความย่อในอรรถกถาว่า ภิกษุไม่รู้ว่าเป็นบิดาหรือมารดาของตัวเองได้ฆ่าบิดาหรือมารดาเสียชีวิตพระองค์ปรับเป็นปาราชิกด้วย เป็นอนันตริยกรรมด้วย[๑๔] ถ้าเอากรณีนี้มาเป็นเกณฑ์วินิจฉัยจะเห็นว่าพระพุทธองค์ให้ความสำคัญกับบิดามารดาผู้ให้กำเนิดมาก เนื้อความในพระสูตรหลายสูตรที่กล่าวถึงการปฏิบัติต่อบิดามารดา เช่น ในปราภวสูตร ตอนหนึ่งว่า บุตรธิดาคนใดอยู่ในวัยหนุ่มมีความสามารถเลี้ยงดูบิดามารดาได้แต่ไม่เลี้ยงดูท่านตอนที่ท่านแก่ชรา การกระทำของบุตรธิดาคนนั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม[๑๕]
๓.๑.๓ ถ้าเคารพบิดามารดาจะมีผลอย่างไร
ตอบคำถามข้อว่า ถ้าเคารพหรือเลี้ยงดูบิดามารดาอย่างดีจะมีผลอย่างไร ตามหลักพระพุทธศาสนาสอนว่า การอุปัฏฐากหรือการเลี้ยงดูบิดามารดาเป็นมงคลสูงสุดดังที่ปรากฏในมงคลสูตรนั้น ถามว่า เพราะเหตุไรจึงเป็นมงคลสูงสุดแก่บุตรธิดา ตอบว่า เพราะบิดามารดามีพระคุณยิ่งใหญ่แก่บุตรธิดา ไม่มีสิ่งใดเปรียบเทียบบุญคุณของบิดามารดาได้ สุภาษิตโบราณว่า เอาแผ่นฟ้าเป็นกระดาษเอาน้ำในมหาสมุทรเป็นน้ำหมึกปากก็เขียนพรรณนาคุณของบิดามารดาจนน้ำหมึกหมดก็ยังพรรณนาคุณของบิดามารดาไม่หมด เพราะเหตุไรจึงมีคุณมากขนาดนั้น เมื่อย้อน คิดดูตั้งแต่แรกเกิดในครรภ์มารดา ถ้าบิดามารดาไม่มีความรักความเมตตาต่อลูกที่เกิดในครรภ์ของตน หาวิธีขับออกเสีย วิญญาณที่ปฏิสนธิในครรภ์ก็ไม่มีโอกาสเจริญเติบโตจนถึงกำหนดคลอด ในขณะที่มารดาตั้งครรภ์เป็นเวลา ๙ เดือน บิดาต้องทำงานหนักเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวเพื่อชดเชยช่วงที่มารดาตั้งครรภ์แก่ทำงานหนักไม่ได้ ในขณะเดียวกันมารดาก็คอยประคับประครองลูกน้อยที่อยู่ในครรภ์ไม่ให้เกิดอันตรายคอยระวังแม้กระทั่งอาหาร ไม่กินตามใจชอบเพราะเป็นห่วงว่า จะทำอันตรายแก่ลูกในครรภ์ เมื่อถึงคราวคลอดออกมาแม่ผู้คลอดได้รับความเจ็บปวดแทบเอาชีวิตเข้าเดิมพัน หลังจากคลอดแล้วบิดามารดาก็เฝ้าเลี้ยงดูทะนุถนอมอย่างดี ตั้งแต่เป็นทารกนอนแบเบาะจนเจริญเติบโตเป็นผู้หนุ่มสาวเป็นผู้ใหญ่ตามลำดับ
จากตัวอย่างที่บรรยายมานี้จะเห็นว่าบิดามารดามีบุญคุณต่อบุตรธิดาหาที่เปรียบไม่ได้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าการตอบแทนบุญคุณต่อผู้มีพระคุณมีผลตอบแทนสูงแก่ผู้กระทำ อนึ่งบิดามารดาเปรียบเสมือนพระอรหันต์ของลูก การได้ทำบุญกับพระอรหันต์นั้นมีผลยิ่งใหญ่เพียงไร มีหลักฐานปรากฏในทักขิณาวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ตอนว่าด้วยการจำแนกทาน พระพุทธองค์ตรัสอานิสงส์ของการให้ทานตั้งแต่ให้แก่สัตว์เดรัจฉานไปจนถึงถวายแก่พระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า และสุดท้ายถวายแก่สงฆ์ว่า ผู้ถวายจะได้อานิสงส์เพิ่มขึ้นตามคุณธรรมของผู้รับทานหรือปฏิคาหก คือ ถวายทานให้แก่พระอนาคามีร้อยครั้งอานิสงส์ก็ไม่เท่ากับถวายแก่พระอรหันต์หนึ่งครั้ง ถวายแก่พระอรหันต์ร้อยครั้งอานิสงส์ไม่เท่ากับถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าหนึ่งครั้ง ถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าร้อยครั้งก็ไม่เท่าถวายแด่พระพุทธเจ้าหนึ่งครั้ง ถวายแด่พระพุทธเจ้าร้อยครั้งก็ไม่เท่าถวายแก่สงฆ์หนึ่งครั้ง[๑๖]
จากตัวอย่างนี้จะเห็นว่า การถวายทานแก่พระอรหันต์ครั้งเดียวมีผลมากกว่าการถวายแก่พระอนาคามีร้อยครั้ง ซึ่งพระอนาคามีนั้นก็ถือว่าเป็นผู้มีคุณธรรมสูงอยู่แล้วเป็นบุคคลที่หาได้ยากเช่นเดียวกัน แต่เมื่อเปรียบบิดามารดาเหมือนพระอรหันต์ของบุตรธิดา การที่บุตรธิดาได้ดูแลเลี้ยงดูบิดามารดาจนตลอดอายุไขของท่านซึ่งนับครั้งไม่ได้นั้นจะมีผลานิสงส์มากเพียงไร จากหลักฐานตรงนี้จึงสมกับพระพุทธพจน์ว่า “การบำรุงบิดามารดาเป็นมงคลสูงสุด” บิดามารดาเป็นบุพการรีของบุตรธิดา เป็นบุคคลที่หาได้ยาก การได้บำรุงบุคคลที่หาได้ยากย่อมจะมีอานิสงส์มากเช่นเดียวกัน จึงไม่มีข้อสงสัยว่า การเลี้ยงดูมารดบิดาจะทำให้การดำเนินชีวิตของบุตรธิดาเจริญรุ่งเรืองอย่างแน่นอน
บรรณานุกรม
๑. ภาษาบาลี – ไทย :
ก. ข้อมูลปฐมภูมิ
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๐๐.
__________. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.
__________. อรรถกถาบาลี ฉบับมหาจุฬาอฏฺฐกถา. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์วิญญาณ, ๒๔๙๙,๒๕๓๓-๒๕๓๔.
มหามกุฏราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกพร้อมอรรถกถาแปล. ชุด ๙๑ เล่ม. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๔.
ข. ข้อมูลทุติยภูมิ
(๑) หนังสือ
พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. พิมพ์ครั้งที่ ๑๒. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๖.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์. พิมพ์ครั้งที่ ๑๖. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ บริษัท สหธรรมิก จำกัด, ๒๕๕๔.
พระสิริมังคลาจารย์. มังคลัตถทีปนีแปล. แปลโดย สภาวิชาการมหามกุฏราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๔๘๑.
(๒) สื่ออิเล็กทรอนิกส์
พ.อ.(พิเศษ) ทองคำ ศรีโยธิน, หยุดความชั่วที่ไล่ล่าตัวคุณ, [ออนไลน์] แหล่งที่มา : http://www.thaimonarchy.com (๔ กันยายน ๒๕๕๕).
[๑] ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๒๔๒-๒๗๔/๑๙๙-๒๑๘.
[๒] ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๒๖๖/๒๑๒, ดูเพิ่มเติมใน พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม, พิมพ์ครั้งที่ ๒๐, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ บริษัท สหธรรมิก จำกัด, ๒๕๕๔), หน้า ๑๙๑-๑๙๖.
[๓] พระสิริมังคลาจารย์, มังคลัตถทีปนีแปล, แปลโดย สภามหามกุฏราชวิทยาลัย, มงฺคล. (ไทย) ๒/๒๙๔/๘๒-๘๓.
[๔] ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๒๖๗/๒๑๒, ดูเพิ่มเติมใน พระสิริมังคลาจารย์, เรื่องเดียวกัน, มงฺคล. (ไทย) ๒/๒๙๔/๘๒-๘๓.
[๕] ขุ.ขุ. (ไทย) ๒๕/๑-๑๓/๖-๘.
[๖] พระสิริมังคลาจารย์, มังคลัตถทีปนีแปล, มงฺคล. (ไทย) ๒/๓๒๔/๙๙-๑๐๐.
[๗] คำว่า ทำให้ศรัทธาไทย ตกไป หมายถึง ทำให้คนที่ทำบุญใส่บาตรมาด้วยความเลื่อมใสเมื่อรู้ว่าภิกษุเอาอาหารบิณฑบาตไปให้ญาติโยม ก็จะหมดศรัทธา ต่อไปก็จะไม่ใส่บาตรแก่ภิกษุรูปนั้นอีก แต่ถ้ารู้ว่า ภิกษุรูปนั้นนำเอาไปให้โยมมารดา ก็ไม่เสียใจหรือหมดศรัทธากลับยินดีกับภิกษุนั้นเสียอีก
[๘] พระสิริมังคลาจารย์, มังคลัตถทีปนีแปล, มงฺคล. (ไทย) ๒/๓๐๙-๓๑๐/๘๙-๙๑.
[๙] ขุ.ชา. (ไทย) ๒๗/๑-๑๗/๔๒๓-๔๒๖.
[๑๐] องฺ.ทุก. (ไทย) ๒๐/๑๒๐/๑๑๔.
[๑๑] พ.อ.(พิเศษ) ทองคำ ศรีโยธิน, หยุดความชั่วที่ไล่ล่าตัวคุณ, [ออนไลน์] แหล่งที่มา : http://www.thaimonarchy.com (๔ กันยายน ๒๕๕๕).
[๑๒] ดูรายละเอียดใน ขุ.ธ.อ. (ไทย) ๕/๗/๓๗-๔๑.
[๑๓] ขุ.เปต. (ไทย) ๒๖/๒๖๕/๒๑๐.
[๑๔] ดูรายละเอียดใน วิ.อ. (ไทย) ๑/๓๗๒.
[๑๕] ขุ.ธ. (ไทย) ๒๕/๙๘/๕๒๕.
บทบาทด้านการบริหารของพระพุทธเจ้า
บทความเรื่อง “บทบาทด้านการบริหารของพระพุทธเจ้า”
*************************
พระมหาธานินทร์ อาทิตวโร
ป.ธ.๘, พธ.บ., พธ.ม., พธ.ด. (พระพุทธศาสนา)
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น
๑. บทนำ
ในโลกปัจจุบันซึ่งเป็นโลกของการสื่อสารแบบออนไลน์ การบริหารในครอบครัวหรือในองค์กรต่างๆ จึงสามารถทำได้หลายวิธีไม่จำเป็นต้องเข้าไปสำนักงานก็สามารถบริหารสั่งการได้ ด้วยวิธีโทรศัพท์บ้าง ส่งเอกสารสั่งงานบ้าง ส่งข้อความขนาดสั้น หรือ (message) บ้าง ใช้ระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์บ้าง แล้วแต่ว่า ใครจะสะดวกแบบไหนหรือว่าระบบไหนจะเหมาะกับองค์กรนั้นๆ หลักการบริหารงานก็มีหลายรูปแบบทั้งที่เป็นหลักการบริหารตามทฤษฎีของตะวันตกและตามหลักทฤษฎีตามหลักตะวันออก โดยเฉพาะตามหลักพระพุทธศาสนา นักบริหารในโลกนี้คงไม่มีใครยิ่งไปกว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ได้รับยกย่องว่า เป็นศาสดาเอกของโลก เป็นครูยิ่งกว่าครู เป็นพรหมยิ่งกว่าพรหม เป็นเทพยิ่งกว่าหมู่เทพทั้งหลาย พระองค์มีบทบาทหลายด้าน เช่น ด้านการเผยแผ่พระสัทธธรรมคำสอนแก่เวไนยสัตว์ ด้านการบริหารสาวก ทั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์อย่างยอดเยี่ยม ทำให้องค์กรที่เรียกว่า พระพุทธศาสนา สามารถดำรงอยู่ได้จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา ๒,๖๐๐ ปีแล้ว ในบทความนี้ผู้เขียนจะศึกษาบทบาทด้านการบริหารของพระพุทธองค์ว่า พระองค์มีหลักการบริหารศาสนบุคคลและศาสนธรรมอย่างไรจึงทำให้คำสอนของพระองค์อยู่มาตลอดจนถึงปัจจุบัน
๒. ความหมายของการบริหาร
คำว่า บริหาร ตรงกับภาษาบาลีว่า “ปริหร” แปลตามศัพท์ว่า การนำไปรอบ ไทยนำมาใช้ในความหมายว่า การบริหาร ตามรูปศัพท์ หมายถึง การปกครอง การนำสังคมหรือนำหมู่คณะให้พัฒนาไปพร้อมกัน อีกนัยหนึ่ง คำว่า “ปริหร” หมายถึง การแบ่งงาน การกระจายอำนาจ หรือการที่สมาชิกในสังคมมีส่วนร่วมในการปกครองหมู่คณะ เช่นที่ปรากฏพระไตรปิฎกว่า “อหํ ภิกฺขุสงฺฆํ ปริหริสฺสามิ” เราจักปกครองภิกษุสงฆ์ หรือ เราจักบริหารคณะสงฆ์ เป็นต้น[๑]
๓. บทบาทด้านการบริหารของพระพุทธเจ้า
๑) บริหารเพื่อปัจเจกบุคคลและสังคม
การบริหารงานของพระพุทธองค์มุ่งประโยชน์แก่ปัจเจกบุคคลและสังคมเป็นหลัก การบริหารเพื่อปัจเจกบุคคลพระองค์ทรงวางหลักไว้เรียกว่าพระวินัยซึ่งเป็นหลักการเพื่อการปรับพฤติกรรมของสาวกที่มาจากหลากหลายสังคมให้มีแนวทางการปฏิบัติแบบเดียวกันเพื่อจะง่ายต่อการบริหารจัดการให้อยู่ด้วยกันอย่างเรียบร้อยเป็นที่น่าเลื่อมใสแก่ผู้ที่พบเห็น และเพื่อประโยชน์สูงสุดของสาวกเอง เช่น พระองค์ทรงวางหลักให้เคารพกันตามอาวุโส คือ นับถือกันตามพรรษา ใครเข้ามาสู่พระธรรมวินัยนี้ก่อนให้ถือว่าผู้นั้นอาวุโสกว่า แม้ว่าจะอายุน้อยกว่าก็ตาม ให้ผู้เข้ามาทีหลังกราบไหว้ ลุกรับผู้เข้ามาก่อน ทรงวางหลักให้ละทิ้งวรรณะเดิมของตนซึ่งเป็นข้อบัญญัติที่ไม่เป็นธรรมเป็นการแบ่งแยกมนุษย์ให้แตกแยกกันตามหลักของศาสนาพราหมณ์เดิมหรือศาสนาฮินดูในปัจจุบัน ผู้ที่เข้ามาบวชเป็นภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรีแล้ว ถือว่ามีวรรณะเสมอกัน เปรียบเหมือนมหาสมุทร อันเป็นที่รองรับสายน้ำที่ไหลมาจากทิศต่างๆ เมื่อลงสู่มหาสมุทรแล้วย่อมเป็นรสเดียวกันหมด
ตัวอย่างการบริหารเพื่อปัจเจกบุคคล เช่น ทรงบัญญัติสิกขาบทและธรรมเนียมปฏิบัติต่อกันและกันอาทิ ทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ห้ามไม่ให้ขโมยสิ่งของของคนอื่นที่เจ้าของไม่ได้ให้ วัตถุประสงค์เพื่อให้สาวกที่อยู่ร่วมกันไม่ต้องระแวงต่อกันและกัน จะทำให้เกิดความมั่นใจในความปลอดภัยในทรัพย์สินของตน เมื่อไม่มีความระแวงแล้วจะทำให้การบำเพ็ญสมณธรรมเป็นไปด้วยความสะดวกไม่มีความกังวลเกี่ยวกับทรัพย์สิน
ตัวอย่างการบริหารเพื่อสังคม เช่น ทรงวางธรรมเนียมปฏิบัติต่อกันระหว่างภิกษุผู้มีวุฒิภาวะเสมอกัน อาทิ ทรงวางหลักสาราณียธรรม ๖ ประการ[๒] ไว้ เพื่อให้สาวกอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและเจริญก้าวหน้าในการบำเพ็ญสมณธรรมในขั้นสูง ทรงวางหลักอุปัชฌายวัตร สัทธิวิหาริกวัตร อาจริยวัตร และอันเตวาสิกวัตร[๓] เพื่อให้พระอุปัชฌาย์และสัทธิวิหาริก อาจารย์และอันเตวาสิก ปฏิบัติต่อกันอย่างเหมาะสม เช่น ห้ามไม่ให้ภิกษุมีพรรษาหย่อนกว่า ๕ พรรษา จาริกไปที่อื่นโดยปราศจากครูอาจารย์ การทรงวางวัตรเหล่านี้ไว้สามารถวิเคราะห์ได้ว่าเป็นการป้องกันความประพฤติอันจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่พระศาสนาและหมู่คณะและตัวของภิกษุเอง เพราะภิกษุผู้ที่มีพรรษายังไม่ถึง ๕ พรรษาถือว่ายังมีการศึกษาข้อวัตรปฏิบัติน้อยอยู่ ยังไม่สามารถที่จะดูแลตัวเองได้ และไม่สามารถจะแนะนำคนอื่นได้ด้วย ทรงวางหลักอปริหานิธรรม ๗ ประการ (ธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม ธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญฝ่ายเดียว) ได้แก่ ๑) หมั่นประชุมกัน ๒) พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจของสงฆ์ที่พึงกระทำ ๓) ไม่บัญญัติสิ่งที่พระองค์ไม่ทรงบัญญัติไว้ ไม่เพิกถอนสิ่งที่พระองค์บัญญัติไว้ สมาทานศึกษาในสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้ ๔) ให้ความเคารพ นับถือ บูชาพระเถระผู้มีพรรษายุกาลมาก ให้เชื่อฟังคำสอนของท่าน ๕) ไม่ตกไปอยู่อำนาจของตัณหาที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเหตุนำไปสู่การเกิดในภพใหม่ ๖) ยินดีในการอยู่ป่า ๗) ให้ตั้งความปรารถนาไว้ว่า เพื่อนสหพรหมจารีผู้มีศีลาจารวัตรงดงามที่ยังไม่มาสู่อาวาสขอให้มาที่มาแล้วขอให้อยู่เป็นสุข[๔] หลักการนี้สามารถวิเคราะห์ได้ว่า เป็นการวางไว้เพื่อให้ภิกษุมีความสามัคคีกันพร้อมเพรียงกันในการทำกิจของสงฆ์ เป็นการทำให้สงฆ์ตรวจสอบกันและกัน เพราะการประชุมกันบ่อยๆ เป็นบ่อเกิดของความร่วมมือต่อกันและกัน เมื่อได้ทำกิจกรรมร่วมกันบ่อยๆ จะมีความเห็นอกเห็นใจกันและกัน อันจะนำไปสู่ความรัก ความเมตตาต่อกัน การให้ความเคารพต่อผู้ใหญ่เป็นการแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน และความกตัญญูกตเวที การตั้งความปรารถนาไว้ว่า ขอให้พระอรหันต์หรือพระสุปฏิปันโน มาสู่แว่นแคว้นของตน เป็นการแสดงออกถึงความมีศรัทธา มีใจเอื้อเฟื้อ เพราะถ้าได้ท่านผู้มีศีลมีธรรมขั้นสูงมาอยู่ด้วยจะได้อาศัยท่านเหล่านั้น อบรมสั่งสอนลูกหลานให้เป็นคนดี เมื่อเขาเจริญเติบโตขึ้นก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่ดี สามารถช่วยพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
การที่พระพุทธองค์ทรงวางหลักเหล่านี้ไว้ให้สาวกประพฤติตามเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของหมู่คณะและเพื่อบรรลุประโยชน์สูงสุดของการประพฤติพรหมจรรย์คือ การบรรลุ มรรค ผล นิพพาน หรือเพื่อประโยชน์ ๓ อย่าง คือ ประโยชน์ตนเอง ประโยชน์คนอื่น และประโยชน์ทั้งสองฝ่าย[๕]
๒) บริหารตามหลักคำสอน
ตอนตรัสรู้ใหม่ๆ พระองค์ไม่มีกฏเกณฑ์อะไรมากมายในการรับสมาชิก เมื่อเห็นว่า มีผู้สนใจที่จะศึกษาตามหลักคำสอนที่พระองค์ได้ตรัสรู้พระองค์ก็รับเข้าเป็นสมาชิกด้วยการเปล่งพระวาจาว่า ท่านจงเป็นภิกษุ มาเถิด หรือแปลให้ง่ายก็คือ ท่านจงมาเป็นภิกษุเถิด เพียงเท่านี้ก็ถือว่าสำเร็จกิจของการเป็นภิกษุ เพราะในตอนแรกๆ นั้น ผู้ที่เข้ามาล้วนแต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ ความหลุดพ้นจากกิเลส อาสวะ เมื่อกาลเวลาผ่านไปมีสาวกเพิ่มขึ้นพระองค์ไม่สามารถจะดูแลทั่วถึง จึงทรงวางหลักการฝึกฝนอบรมปัจเจกบุคคลและสังคม ด้วยหลักธุระ ๒ อย่างคือ คันถธุระ การศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม และวิปัสสนาธุระ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อให้เกิดปัญญา ที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลาย[๖] การที่พระองค์วางหลักการไว้อย่างนี้ทำให้การบริหารกิจการคณะสงฆ์สาวกเป็นไปอย่างเรียบร้อย เพราะเป็นเงื่อนไขของการรับคนภายนอกเข้ามาสู่องค์กร ถ้าผู้ที่จะเข้ามาสู่องค์กรนี้ต้องยอมรับและปฏิบัติตามหลักดังกล่าวนี้จึงจะอนุญาตให้เข้ามาได้ ถ้าไม่ยอมรับก็ไม่อนุญาต หลักนี้เป็นการกลั่นกรองบุคคลโดยไม่ต้องมีเงื่อนไขต่อรองใดๆ นอกจากนี้ยังเป็นยังเป็นแนวทางในการฝึกฝนอบรมตนของสมาชิกในองค์กรทุกคน ไม่มีข้อยกเว้น
นอกจากหลักการใหญ่ทั้งสองนี้ พระองค์ยังวางหลักย่อยอีกมากมายเพื่อให้เหมาะกับกลุ่มบุคคลและกาลเวลา เช่น ทรงเลือกคำสอนที่เหมาะกับผู้ฟังเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ฟัง อาทิ ทรงเลือกแสดงอริยสัจสี่[๗] แก่พวกปัญจวัคคีย์ เพราะอริยสัจสี่เป็นหลักธรรมลึกซึ้งเหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญญาแก่กล้าได้ศึกษาหรือแสวงทางพ้นทุกข์มาพอสมควรแล้วจึงจะเข้าใจได้ การเลือกแสดงอริยสัจสี่แก่พวกปัญจวัคคีย์ทำให้พระองค์ยืนยันความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพระองค์ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะถ้าพระองค์แสดงแล้วไม่มีใครเข้าใจและไม่ได้บรรลุธรรมตาม การตรัสรู้ของพระองค์ก็จะเป็นเพียงปัจเจกโพธิญาณเท่านั้น ในเวลาใกล้เคียงกันนั้นพระองค์ได้แสดงอนุปุพพีกถา[๘]แก่ยสกุลบุตรและครอบครัว ทำให้ยสกุลบุตรและครอบครัวได้บรรลุธรรมตาม สาเหตุที่พระองค์แสดงอนุปุพพีกถาแก่ยสกุลบุตรและครอบครัวเพราะว่า อนุปุพพีกถาเป็นหลักการที่เข้าใจง่าย เหมาะสำหรับฆรวาสที่อยู่ครองเรือนอย่างยสกุลบุตรและครอบครัว ทรงแสดงหลักสังคหวัตถุซึ่งเป็นหลักการครองใจมิตรแก่คฤหัสถ์[๑๐] ทรงแสดงหลักสาราณียธรรม ๖ ประการแก่ภิกษุ[๑๑] ทรงแสดงหลักสัปปุริสธรรม ๗ ประการไว้แก่บรรพชิตและคฤหัสถ์[๑๒]
๓) บริหารตามกาลเวลาที่เหมาะสม
ตอนตรัสรู้ใหม่ๆ พระองค์ทรงยับยั้งเสวยวิมุตติสุขอยู่ในบริเวณต้นโพธิ์ที่ตรัสรู้เป็นเวลาหลายสัปดาห์[๑๓] ในระหว่างนี้พระองค์ได้พิจารณาหลักธรรมที่พระองค์ได้บรรลุว่าเป็นธรรมลึกซึ้งมากยากแก่การเข้าใจแก่บุคคลทั่วไป จนพระองค์ถอดใจที่จะสั่งสอนคนอื่น จนท้าวสหัมบดีพรหมทราบความดำริของพระองค์แล้วลงมาอาราธนาให้พระองค์แสดงธรรมแก่เวไนยสัตว์ด้วยเหตุผลว่า สัตว์ผู้มีธุลี (กิเลส) น้อยมีอยู่ ซึ่งสัตว์เหล่านี้เมื่อได้ฟังธรรมแล้วจะได้บรรลุธรรม ถ้าไม่ได้ฟังธรรมก็จะเสียโอกาส การที่ทรงยับยั้งอยู่นั้น ทำให้ตีความได้ว่าพระองค์ทรงรอเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเผยแผ่พระสัทธธรรมสู่เวไนยสัตว์ และเมื่อรับคำอาราธนาของท้าวสหัมบดีพรหมแล้วว่าจะแสดงธรรมแก่เวไนยสัตว์ ก็ทรงรอเวลาในการออกเดินทางมุ่งสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสีเพื่อแสดงพระธรรมเทศนาแก่พวกปัญจวัคคีย์โดยตัดสินพระทัยออกเดินทางไปให้ถึงที่นั่นให้ตรงกับวันเพ็ญเดือนอาสาฬหมาส หรือวันเพ็ญเดือน ๘ หลังจากแสดงพระธัมมจักกัปปวัตนสูตร[๑๔] แก่พวกปัญจวัคคีย์จนทำให้พระโกญฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมคือได้บรรลุโสดาบันแล้ว ต่อจากนั้นพระองค์ทรงรออยู่เป็นเวลาหลายวัน เพื่อให้ปัญญาของปัญจวัคคีย์ที่เหลือแก่กล้าพอที่จะรู้และเข้าใจเกี่ยวกับความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตนอย่างแท้จริงของขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อทรงเห็นว่าพวกปัญจวัคคีย์มีสติปัญญาพร้อมที่จะเข้าใจแล้ว จึงแสดงอนัตตลักขณสูตร สูตรว่าด้วยขันธ์ ๕[๑๕] แก่พวกปัญจวัคคีย์ เมื่อจบพระธรรมเทศนา พวกปัญจวัคคีย์ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด
หลังจากที่พระองค์ส่งพระสาวกจำนวน ๖๐ รูปออกไปเผยแผ่พระศาสนาแล้ว พระองค์เองเสด็จไปที่อุรุเวลาเสนานิคมเพื่อโปรดพวกชฎิลสามพี่น้อง นำโดยอุรุเวลกัสสปะ ที่ถือบวชในลัทธิบูชาไฟ พระองค์ใช้เวลาทรมานอุรุเวลกัสสปะอยู่เป็นเวลานาน ด้วยวิธีแสดงอิทธิฤทธิ์ต่างๆ ให้ดู อุรุเวลกัสสปะก็พอใจและยอมรับว่าพระองค์เป็นผู้วิเศษคนหนึ่ง แต่ยังไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนกับตน ความคิดของอุรุเวลกัสสปะไม่ใช่ว่าพระพุทธองค์จะไม่ทรงรับรู้แต่ทรงรอเวลาที่เหมาะสมก่อน เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมแล้วพระองค์จึงตรัสความจริงกับอุรุเวลกัสสปะว่า เขายังไม่เป็นพระอรหันต์หรอก อย่าว่าแต่เป็นพระอรหันต์แม้แต่ธรรมเป็นเครื่องนำไปสู่ความเป็นพระอรหันต์ ก็ยังไม่รู้ พอพระองค์ตรัสอย่างนี้ทำให้อุรุเวลกัสสปะได้สติแล้วยอมลดตัวลงเป็นสาวกของพระองค์ พระองค์จึงแสดงอาทิตตปริยายสูตร อันเป็นพระสูตรว่าด้วยเรื่องไฟ ๓ กอง ได้แก่ ไฟคือราคะ ความกำหนัดยินดีในกามคุณ ไฟคือโทสะ ความโกรธ ความขัดเคืองในใจ ไฟคือโมหะ ความหลง ไม่รู้ธรรมชาติของชีวิตตามความเป็นจริง[๑๖] ผลจากการแสดงพระธรรมเทศนาครั้งนี้ทำให้พระองค์ได้สาวกเพิ่มขึ้นอีก ๑,๐๐๓ รูป คือ อุรุเวลกัสสปะกับลูกศิษย์ จำนวน ๕๐๐ รูป นทีกัสสปะ และลูกศิษย์จำนวน ๓๐๐ รูป และคยากัสสปะและลูกศิษย์จำนวน ๒๐๐ รูป
อีกตัวอย่างหนึ่ง ทรงใช้อุบายให้นางกีสาโคตรมี[๑๗] ที่ได้รับความเศร้าโศกเพราะบุตรน้อยเสียชีวิต แต่นางไม่ยอมรับว่า ลูกน้อยเสียชีวิตพยายามอุ้มศพลูกแสวงหาหมอรักษา จนได้พบกับบุรุษคนหนึ่ง บุรุษคนนั้นเกิดความสงสารแนะนำให้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยบอกว่า พระพุทธองค์ทรงรู้จักยารักษาลูกน้อยของนาง พระองค์ไม่ได้ตรัสบอกตรงๆ ว่า ลูกน้อยของนางเสียชีวิตแล้วไม่สามารถทำให้ฟื้นคืนได้ แต่พระองค์กลับตรัสบอกว่า ให้นางไปหาเมล็ดพันธ์ผักกาดมาจากบ้านของคนที่ไม่มีใครเสียชีวิตมาปรุงยาจะสามารถรักษาลูกของนางให้ฟื้นได้ นางดีใจมากจึงออกแสวงหาเมล็ดพันธ์ผักกาดไปตามหมู่บ้านต่างๆ ทุกบ้านมีเมล็ดพันธ์ผักกาดแต่พอถามว่าบ้านนั้นๆ เคยมีคนตายไหม ได้รับคำตอบว่า มีคนตายทุกบ้าน เมื่อเป็นอย่างนี้นางจึงกลับได้สติว่า ความตายเกิดมีกับคนทุกคนไม่เฉพาะบุตรของนาง เมื่อได้สติแล้วจึงทิ้งศพลูกในป่า ผ่อนคลายความเศร้าโศกลงได้แล้วกลับมากราบทูลพระพุทธองค์ พระพุทธองค์เห็นว่า นางมีสติสัมปชัญญะพร้อมที่จะรับฟังพระธรรมคำสอนแล้วจึงแสดงพระธรรมเทศนาให้ฟัง เมื่อจบพระธรรมเทศนานางได้บรรลุโสดาบัน เรื่องนี้ชี้ให้เห็นถึงการบริหารโดยอาศัยกาลเวลาช่วยแก้ปัญหา ถ้าสมมติว่า พระองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาให้นางฟังในขณะที่กำลังเศร้าโศกอยู่นั้น นางก็คงไม่เชื่อพระองค์แล้วการแสดงพระธรรมเทศนานั้นก็จะไม่เป็นประโยชน์แก่นางเลย
จากตัวอย่างที่กล่าวมานี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นบทบาทการบริหารงานโดยอาศัยกาลเวลาของพระพุทธองค์ ทำให้การบริหารของพระองค์ประสบผลสำเร็จตามที่ตั้งไว้
๔) บริหารตามสถานที่และสิ่งแวดล้อม
การบริหารโดยยึดเอาสถานที่และสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องมือ พระองค์ทรงเลือกสถานที่ประทับในป่า หรือในที่ไม่ไกลจากชุมชนนัก ไม่ใกล้กับชุมชนนัก เช่น ทรงประทับบนภูเขาคิชฌกูฏ กรุงราชคฤห์ และทรงประทับที่อุทยานเวฬุวัน[๑๘] ของพระเจ้าพิมพิสาร เป็นต้น ซึ่งแต่ละสถานที่ล้วนเหมาะสมกับการอยู่อาศัยของบรรพชิต ทรงชี้แจงให้สาวกตระหนักถึงการอยู่ป่าว่าเป็นสถานที่เหมาะสำหรับการบำเพ็ญสมณธรรม ให้สาวกยินดีในการอยู่ป่า ไม่ให้คลุกคลีกับหมู่คณะและคฤหัสถ์มากเกินไป[๑๙] เพราะจะทำให้เสียเวลาบำเพ็ญสมณธรรม จะพลาดโอกาสที่จะบรรลุมรรค ผล อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของการประพฤติพรหมจรรย์ในศาสนาของพระองค์
การที่พระองค์ทรงแต่งตั้งพระสาวกให้ช่วยบริหารคณะสงฆ์ที่อยู่ตามทิศต่างๆ เป็นวิธีหนึ่งที่พระองค์เลือกใช้ เช่น ทรงแต่งตั้งให้พระอัญญาโกณทัญญะ ปกครอง ดูแลสาวกที่อยู่ทางทิศบูรพา (ทิศตะวันออก) ทรงแต่งตั้งพระมหากัสสปะ ปกครอง ดูแลสาวกที่อยู่ทางทิศอาคเณย์ (ทิศตะวันออกเฉียงใต้) ทรงแต่งตั้งให้พระสารีบุตร ปกครอง ดูแลสาวกที่อยู่ทางทิศทักษิณ (ทิศใต้) เป็นต้น เป็นการบริหารตามสถานที่
ส่วนการบริหารตามสิ่งแวดล้อม เช่น เมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมอย่างใดก็ทรงยกเอาส่ิ่งนั้นขึ้นเป็นตัวอย่างประกอบกับการสอน อาทิ ขณะที่เห็นฝูงโคกำลังข้ามแม่น้ำ ก็ทรงยกตัวอย่างว่า โคที่เป็นหัวหน้าไปตรง โคที่ตามหลังก็ไปตรงด้วย เช่นเดียวกัน ถ้าผู้นำหรือผู้ปกครอง ผู้บริหาร มีความซื่อสัตย์ ไม่คดโกง ลูกน้อง หรือผู้ตามก็ซื่อสัตย์ ไม่คดโกงด้วย
การที่พระองค์ทรงแต่งตั้งพระสาวกให้ช่วยบริหารคณะสงฆ์ที่อยู่ตามทิศต่างๆ เป็นวิธีหนึ่งที่พระองค์เลือกใช้ เช่น ทรงแต่งตั้งให้พระอัญญาโกณทัญญะ ปกครอง ดูแลสาวกที่อยู่ทางทิศบูรพา (ทิศตะวันออก) ทรงแต่งตั้งพระมหากัสสปะ ปกครอง ดูแลสาวกที่อยู่ทางทิศอาคเณย์ (ทิศตะวันออกเฉียงใต้) ทรงแต่งตั้งให้พระสารีบุตร ปกครอง ดูแลสาวกที่อยู่ทางทิศทักษิณ (ทิศใต้) เป็นต้น เป็นการบริหารตามสถานที่
ส่วนการบริหารตามสิ่งแวดล้อม เช่น เมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมอย่างใดก็ทรงยกเอาส่ิ่งนั้นขึ้นเป็นตัวอย่างประกอบกับการสอน อาทิ ขณะที่เห็นฝูงโคกำลังข้ามแม่น้ำ ก็ทรงยกตัวอย่างว่า โคที่เป็นหัวหน้าไปตรง โคที่ตามหลังก็ไปตรงด้วย เช่นเดียวกัน ถ้าผู้นำหรือผู้ปกครอง ผู้บริหาร มีความซื่อสัตย์ ไม่คดโกง ลูกน้อง หรือผู้ตามก็ซื่อสัตย์ ไม่คดโกงด้วย
๔. บทสรุป
การบริหารงานบุคคลสมัยใหม่มีแนวทางหลากหลายวิธีที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายนำมาใช้ซึ่งสามารถทำให้การบริหารงานประสบความสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง และมีการเปลี่ยนแปลงหลักการและวิธีการอยู่เป็นระยะๆ ตามยุคสมัยเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันให้มากที่สุด ส่วนหลักการบริหารที่พระพุทธองค์ทรงใช้ในการบริหารพุทธบริษัท ตั้งแต่สมัยเมื่อสองพันปีเศษล่วงมาจนถึงปัจจุบันนี้ หลักการและวิธีการของพระองค์ยังใช้ได้อยู่จนถึงทุกวันนี้ เป็นเรื่องที่น่าศึกษาและนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารงานในสมัยปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง เพื่อผลสัมฤทธิ์สูงสุดของการบริหารซึ่งหลักการและวิธีการเหล่านั้นได้นำเสนอไว้ในบทความนี้แล้ว
[๑] วิ.จู. (บาลี) ๗/๓๓๖/๗๒, วิ.จู. (ไทย) ๗/๓๓๖/๑๘๑.
[๒] ดูรายละเอียดใน ม.มู. (ไทย) ๑๒/๔๙๒/๕๓๑-๕๓๒, ม.อุ. (ไทย) ๑๔/๕๔/๕๙-๖๐.
[๓] ดูรายละเอียดใน วิ.มหา. (ไทย) ๔/๖๗/๘๘.
[๔] ที.ม. (บาลี) ๑๐/๑๓๔/๖๖, ที.ม. (ไทย) ๑๐/๑๓๔/๗๘.
[๕] ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๑๗๖/๑๓๗, ที.ปา.ฏีกา (บาลี) ๑๖๐/๑๐๐, สํ.นิ. (ไทย) ๑๖/๒๒/๔๐, องฺ.จตุกฺก. (ไทย) ๒๓/๕๔/๓๔๐-๓๔๑.
[๖] ดูรายละเอียดใน องฺ.ฉกฺก.อ. (บาลี) ๓/๑๔/๑๐๕, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา (บาลี) ๓/๑๔-๑๕/๑๑๘) และอภิ.ก. (บาลี) ๓๗/๒๖๗/๘๘.
[๗] ดูรายละเอียดใน วิ.ม. (ไทย) ๔/๑๓-๑๗/๒๐-๒๕.
[๘] อนุปุพพีกถา พรรณนาถึงเรื่อง การให้ทาน การรักษาศีล การไปเกิดในสวรรค์ โทษของการเสพสุขในสวรรค์ และสุดท้ายพรรณนาถึงอานิสงส์ของการออกบวช ประพฤติพรหมจรรย์ ดูรายละเอียดใน วิ.ม. (ไทย) ๔/๑๓-๑๗/๒๐-๒๕.
[๙] ที.ม. (บาลี) ๑๐/๑๓๔/๖๖, ที.ม. (ไทย) ๑๐/๑๓๔/๗๘.
[๑๐] ขุ.ชา. (ไทย) ๒๘/๑๗๘/๘๓.
[๑๑] ม.มู. (ไทย) ๑๒/๔๙๒/๕๓๑-๕๓๒, ม.อุ. (ไทย) ๑๔/๕๔/๕๙-๖๐.
[๑๒] ดูรายละเอียดใน ที.ปา. (ไทย) ๓๓๐/๓๓๓.
[๑๓] ดูรายละเอียดใน วิ.ม. (ไทย) ๔/๑-๙/๑-๑๕.
[๑๔] ดูรายละเอียดใน วิ.ม. (ไทย) ๔/๑๓-๑๗/๒๐-๒๕.
[๑๕] ดูรายละเอียดใน วิ.ม. (ไทย) ๔/๒๐-๒๔/๒๗-๓๑.
[๑๖] วิ.ม. (ไทย) ๔/๕๔/๖๓-๖๕.
[๑๗] ดูรายละเอียดใน ขุ.ธ.อ. (บาลี) ๑/๒๘๕-๒๘๖, ขุ.ธ.อ. (ไทย) ๑/๒๑๖-๒๑๙.
[๑๘] ดูรายละเอียดใน วิ.ม. (ไทย) ๔/๕๙/๗๑-๗๒.
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)