วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2556

กลอนเมืองเลย

แต่งกลอนนี้เพื่อมอบเป็นกำลังใจให้ท่าน ผอ. โดยเฉพาะ แต่งก่อนวันวางศิลาฤกษ์อาคารเรียนหลังใหม่

กลอนเมืองเลย


เมืองเลยดินแดนแหล่งสมคิด
เศรษฐกิจติดอันดับในอีสาน
มีพืชงาม สวยสด ครบหลายพันธ์
ทั้งเงาะ กล้วย สับปะรด ครบสรรพเอย

เป็นดินแดนถิ่นที่มีความหมาย
แก่ผู้ได้มาพบประสบเห็น
เป็นแหล่งที่งามสดครบประเด็น
ทั้งหุบเขาสายหมอกซอกธารา

คนใจดี มีน้ำใจทั้งใบหน้า
งามสง่ามีเสน่ห์เป็นราศี
สมกับเป็นชาวพุทธสุดเปรมปรี
เอ่ยวจีไพเราะเสนาะใจ

เมืองทะเลขุนเขาลำเนาไพร
เมืองด่านซ้ายผีตาโขนคนเล่าขาน
เมืองเชียงคานแก่งคุดคู้รู้มานาน
ภูกระดึง หนองหินคุณหมิงไทย

แหล่งที่ตั้งมหาจุฬาสง่าเด่น
ที่บำเพ็ญเรียนรู้จิตสังขาร
ให้เป็นปราชญ์ฉลาดในรูปนาม
เป็นสะพานข้ามพ้นกลของมาร

ท่าน ผอ. ภิรัฐกรณ์ออนซอนหลาย
มีสไตล์บริหารงานเหมาะสม
นำหมู่คณะเตรียมงานกันระงม
สร้างอาศรมหลังใหม่ไว้รอคอย

ห้า ตุลา ห้าห้า ใกล้มาถึง
วันที่ซึ่ง กำหนดการนัดหมาย
วางศิลาฤกษ์อาคารเรียนเปลี่ยนสไตล์
สร้างมหาบัณฑิตให้สมหมายดั่งใจปอง

วันอังคารที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2556

บทความเรื่อง "การพัฒนาสังขารเพื่อการบรรลุธรร"

บทความเรื่อง ประสบการณ์การปฏิบัติธรรม

บทความนี้เขียนตอนได้รับนิมนต์ไปเป็นพระวิปัสสนาจารย์อบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ ของ มจร. รุ่นที่ ๑๗ ที่ แคมป์สน เขาค้อ เพชรบูรณ์ 

สนใจอ่านบทความเปิดเว็ปไซด์ข้างล่างนี้ 


www.obm17.com



ประสบการณ์การปฏิบัติธรรม โดย...พระมหาธานินทร์ อาทิตวโร PDF พิมพ์ อีเมล
บทความพิเศษ
เขียนโดย Administrator   
วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม 2011 เวลา 02:39 น.
บทความเรื่อง ประสบการณ์การปฏิบัติธรรม
โดย...พระมหาธานินทร์  อาทิตวโร        

การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน  เป็นคำที่ข้าพเจ้าได้ฟังแล้วรู้สึกเป็นเรื่องยิ่งใหญ่และสูงส่งมาก ข้าพเจ้ามีโอกาสได้เข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานครั้งแรก กับคณะวิปัสสนากรรมฐานเคลื่อนที่ซึ่งนำโดยพระเดชพระคุณพระกาฬสินธุ์ธรรมคณี  (สมณศักดิ์ในขณะนั้น ต่อมาท่านได้เลื่อนเป็นพระราชธรรมเมธี) รองเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่วัดเกษมาคม  อำเภอกมลาไสย  จังหวัดกาฬสินธุ์  ช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ ซึ่งเป็นปีที่ข้าพเจ้าบวชพรรษาแรก  ตอนนั้นมีความรู้สึกว่า ตัวเองเป็นผู้มีบุญวาสนามากที่มีโอกาสได้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน  เพราะในช่วงนั้นวัดที่บ้านและใกล้เคียงไม่มีการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ทั้งชาวบ้านและพระสงฆ์ในสมัยนั้นถือว่าเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์  ไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้ในยุคนั้นเพราะถือว่าเป็นของที่มีเฉพาะในสมัย พุทธกาล  จากจุดเริ่มต้นตรงนั้นทำให้ข้าพเจ้ามีความปรารถนาในใจมาตลอดว่า  ถ้ามีโอกาสจะหาเวลาปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง  จนได้เข้ามาเรียนในมหาจุฬาฯ จึงได้มีโอกาสปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัย ในปีแรก เริ่มที่วัดอัมพวัน  จังหวัดสิงห์บุรี  ปีที่สองที่สำนักวิปัสสนาวิเวกอาศรม  จังหวัดชลบุรี  เป็นการไปปฏิบัติชดเชย เพราะข้าพเจ้าทำหนังสือขอลาเพื่อเตรียมตัวสอบบาลี  ตามปกติต้องไปปฏิบัติที่แคมป์สน (เฉพาะคณะมนุษยศาสตร์ ชั้นปีที่ ๒)
การไปปฏิบัติในปีนั้น  สภาวธรรมอันหนึ่งได้เกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าคือความโปร่ง โล่งของจิตใจ  ในตอนบ่ายวันหนึ่ง  ข้าพเจ้าตัดสินใจไม่กำหนดอารมณ์ภายนอกคือเสียงที่ได้ยิน  และอารมณ์ภายในคือ อาการพอง  ยุบของท้อง เพราะยิ่งกำหนดยิ่งทำให้จิตฟุ้งซ่านและเกิดความเครียดจึงเปลี่ยนวิธีด้วย ตนเองด้วยการนั่งกำหนดดูอาการเต้นของหัวใจเฉย ๆ กำหนดตามไป ๆ จนในที่สุดเกิดสภาวะเหมือนกับว่า จิตมันลงล็อคอะไรสักอย่างหนึ่งเกิดแสงสว่างขึ้นในใจและรู้สึกเบาสบาย โปร่ง โล่ง ไปหมด  ความรู้สึกตอนนั้นไม่สามารถบรรยายเป็นคำพูดได้หมด  มันมีความสุข  ทั้งปีติปนกัน จากนั้นก็พยายามทำเหมือนเดิมอีก  แต่สภาวะอันนั้นก็ไม่เกิดขึ้นอีก  ได้สอบถามครูบาอาจารย์ผู้มีประสบการณ์ท่านบอกว่า อารมณ์ใดที่เกิดขึ้นแล้วก็จะไม่เกิดอีกเพราะมันเกิดแล้วก็จะเจริญเติบโตขึ้น เป็นอย่างอื่นอุปมาเหมือนต้นไม้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะเจริญเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ ต้นเดิมก็จะหายไปโดยปริยาย
ในปีพ.ศ. ๒๕๕๒ ข้าพเจ้าได้เข้าปฏิบัติที่วัดภัททันตะอาสภาราม จังหวัดชลบุรีในฐานะนิสิตชั้นปริญญาเอก  ผลของการปฏิบัติทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจคำว่า “ขณิกสมาธิ” ที่ใช้กับการเจริญวิปัสสนากรรมฐานมากขึ้น ความเข้าใจของข้าพเจ้าอาจจะถูกหรือผิดก็ได้ คือเข้าใจว่า ขณิกสมาธิที่ใช้กับวิปัสสนากรรมฐาน คือให้มีสมาธิพอประมาณไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป  เปรียบเสมือนชาวนาคลาดนา ที่จะทำการดำนา  เขาจะปล่อยน้ำออกจากแปลงนาไม่ให้มีน้ำมากหรือน้อยเกินไป  ให้มีพอสมดุลกันกับโคลนตม  เพื่อที่จะคลาดได้ลื่นไหลและมองเห็นว่า ตรงไหนราบเรียบแล้วตรงไหนยังเป็นเนินอยู่  ถ้าชาวนาปล่อยให้มีน้ำมากเกินไปก็จะมองไม่เห็น  คลาดได้ไม่ดี  ถ้าให้มีน้ำน้อยเกินไปก็จะคลาดยาก เพราะโคลนตมจะเหนียวไม่ลื่นไหล  ในการเจริญวิปัสสนากรรมฐานก็เช่นเดียวกันคือใช้สมาธิเพียงเล็กน้อยไม่ให้ สมาธิมากเกินไป  ไม่น้อยเกินไป เพราะถ้าสมาธิมากเกินไปก็จะทำให้หลับไม่สามารถกำหนดอารมณ์ที่เกิดขึ้นใน ปัจจุบันได้  ถ้าสมาธิน้อยเกินไปก็จะทำให้จิตฟุ้งซ่านหรือห่อเหี่ยวทำให้เครียดหรือท้อแท้ ได้  วิธีที่ดีที่สุดคือ ทุกอิริยาบถไม่ว่าจะเป็นการ ยืน เดิน นั่ง นอน ต้องให้มีสมาธิเข้าไปหล่อเลี้ยงเสมอ ข้าพเจ้ารู้วิธีนี้แล้วจึงเอาไปปรับใช้กับการปฏิบัติ  ปรากฏว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
ในปีพ.ศ. ๒๕๕๔  ช่วงเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์  ข้าพเจ้าได้ไปปฏิบัติที่วัดภัททันตะอีกครั้ง  คราวนี้ข้าพเจ้าได้รู้ว่า  การกำหนดลอย ๆ โดยสติไม่คมชัดไม่สามารถจะหยุดยั้งอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ หมายความว่า เมื่อเราคิด เรากำหนดว่า คิดหนอ  คิดหนอ คิดหนอ ครบ ๓ ครั้งแล้วก็กำหนดอิริยาบถอื่นต่อไป เช่น การเดินเป็นต้น  ไม่สามารถหยุดยั้งความคิดได้ อุปมาเหมือนกับการหมุนเกลียวที่สึกหรอ  หรืออุปมาเหมือนกับการดาวโหลดโปรแกรมหรือข้อมูลบางอย่างจากอินเตอร์เน็ต ถ้ามันโหลดไม่ติดมันก็จะหมุนอยู่อย่างนั้นแต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร ทำให้เสียเวลาเปล่า  เมื่อข้าพเจ้ารู้อย่างนี้แล้วจึงได้เปลี่ยนวิธีใหม่คือ ตั้งใจกำหนดทุกครั้งที่อารมณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้น ผลปรากฏว่า การปฏิบัติได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
มีอาจารย์ที่ทำหน้าที่นำปฏิบัติและสอบอารมณ์แนะนำให้หลับตากำหนดดูรูปยืน ๓ รอบ คือ รอบแรกตั้งแต่ศีรษะลงมาจนถึงปลายเท้า  รอบที่สองตั้งแต่ปลายเท้าจนถึงศีรษะ รอบที่ ๓ ตั้งแต่ศีรษะจนถึงปลายเท้าอีก  ข้าพเจ้าลองทำตาม  รู้สึกว่าไม่ก้าวหน้าสติไม่มีกำลัง  จึงเปลี่ยนมากำหนดดูที่ต้นจิตคือตรงลิ้นปี่ ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีดั้งเดิมที่หลวงพ่อภัททันตะแนะนำลูกศิษย์และลูกศิษย์ก็ นำมาสอนลูกศิษย์อีกครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้ารู้สึกว่า วิธีนี้ทำให้เกิดสติดีกว่า (สำหรับข้าพเจ้า  คนอื่นอาจจะเห็นแย้งก็ได้)
อีกอย่างหนึ่งที่ข้าพเจ้า เข้าใจเพิ่มขึ้นก็คือ ความเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง คือ  เข้าใจว่าอะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด  เราก็ต้องยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ไปทัดทานหรือทวนกระแส  เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้วทำให้มีความทุกข์น้อยลง   ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ที่คนส่วนมากเป็นทุกข์  เพราะไปปรุงแต่งอยากให้มันเป็นอย่างที่ตัวเองต้องการหรือปรารถนา ไม่ได้กำหนดรู้ตามที่มันเป็น  ซึ่งเป็นคำสอนที่พระพุทธเจ้าเทศน์สอนพวกปัญจวัคคีย์ครั้งแรกในปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร  ตอนหนึ่งที่ว่า เมื่อทุกข์เกิดขึ้นให้กำหนดรู้ทุกข์แล้วจึงกำหนดหาสาเหตุของมัน  เนื้อความตรงนี้เราเคยท่องเคยสวดมาตั้งนานแล้ว  แต่ข้าพเจ้าก็ไม่เข้าใจความหมายที่เป็นสภาวธรรม เพียงแต่เข้าใจตามคำแปลที่แปลกันสืบ ๆ มา
แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม 2011 เวลา 19:24 น.

วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2556

บทความเรื่อง การบริหารงานตามหลักฆราวาสธรรมในพระพุทธศาสนา



บทความเรื่อง “การบริหารงานตามหลักฆราวาสธรรมในพระพุทธศาสนา”
พระมหาธานินทร์  อาทิตวโร
ป.ธ.๘, พธ.บ, พธ.ม, พธ.ด. (พระพุทธศาสนา)
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  วิทยาลัยสงฆ์เลย

*******************

๑. บทนำ
ฆราวาสธรรม เป็นหลักคำสอนที่พระพุทธองค์แสดงไว้เพื่อให้สาวกผู้อยู่ครองเรือนได้นำไปเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตให้ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้  ธรรมดาผู้อยู่ครองเรือนย่อมจะมีการเกี่ยวข้องกันกับสมาชิกในครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น สามีเกี่ยวข้องกับภรรยา บุตรธิดา เกี่ยวข้องกับบิดามารดา พ่อตา แม่ยาย เกี่ยวข้องกับลูกเขย นายจ้างเกี่ยวข้องกับลูกจ้าง  เป็นต้น บุคคลผู้มีความเกี่ยวข้องกันจำเป็นต้องมีธรรมะเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติตนต่อกัน จึงจะทำให้อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข  ดังนั้น  พระพุทธองค์จึงวางหลักธรรมสำหรับผู้อยู่ครองเรือนไว้ เรียกว่า ฆราวาสธรรม ในบทความนี้ผู้เขียนต้องการให้ทราบว่า การบริหารงานตามหลักฆราวาสธรรมที่พระพุทธองค์ได้วางไว้นี้สามารถนำไปใช้ในการบริหารงานได้ผลจริงโดยไม่ต้องสงสัย 
๒. ความหมายและลักษณะของฆราวาสธรรม
ฆราวาสธรรม หมายถึงธรรมสำหรับครองเรือน หรือธรรมสำหรับผู้อยู่ครองเรือน       มี ๔ อย่าง คือ ๑) สัจจะ  ความซื่อสัตย์ต่อกัน  ๒) ทมะ  การฝึกตน ๓) ขันติ ความอดทนอดกลั้น ๔) จาคะ  การเสียสละ การแบ่งปัน มีน้ำใจ[๑]
๓. วิเคราะห์การบริหารงานตามหลักฆราวาสธรรมในพระพุทธศาสนา
ผู้ที่อยู่ครองเรือนต้องบริหารกิจการในครอบครัวให้เป็นไปอย่างราบรื่นเรียบร้อยต้องประกอบด้วยธรรม ๔ ข้อนี้ คือผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวต้องมีสัจจะความซื่อสัตย์ต่อคนในครอบครัว เช่น สามีมีความซื่อสัตย์ต่อภรรยา ต่อบุตรธิดา ภรรยามีความซื่อสัตย์ต่อสามี ต่อบุตรธิดา เมื่อผู้นำมีความซื่อสัตย์ต่อคนรอบข้าง จะทำให้คนรอบข้างไว้วางใจไม่เกิดความระแวงต่อกัน แต่ละคนก็จะตั้งใจทำงานตามหน้าที่ของตนได้เต็มความสามารถ การงานที่ทำก็จะออกมาดี ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเอาไว้ ไม่เฉพาะความซื่อสัตย์เท่านั้นที่นำความสำเร็จมาให้ แม้แต่วาจาสัจหรือการพูดความจริงก็นำประโยชน์อันยิ่งใหญ่มาให้ดังพระพุทธพจน์ว่า สจฺจํ เว อมตา วาจา คำสัจ เป็นวาจาที่ไม่ตาย[๒] คนที่มีสัจจะนอกจากจะบริหารงานประสบความสำเร็จแล้ว ยังสามารถกลับใจศัตรูให้เป็นมิตรได้ดังตัวอย่างเรื่องของสามเณรอธิมุตตกะผู้เดินทางผ่านป่าใหญ่เพื่อที่จะไปเยี่ยมบิดามารดาถูกพวกโจรจับตัวเพื่อจะฆ่าบวงสรวงเทวดาสามเณรขอชีวิตไว้แล้วรับปากกับโจรว่าถ้าไปแล้วเห็นคนเดินผ่านมาจะไม่บอกว่ามีพวกโจรอยู่ในป่านี้พวก โจรเชื่อถ้อยคำขอสามเณรจึงปล่อยไปเมื่อสามเณรเดินไปพบบิดามารดาและพี่น้องชายเดินสวนทางมาเมื่อทักทายกันเรียบร้อยแล้วก็ลาจากกันบิดามารดาของสามเณรเดินทางเข้าป่าใหญ่ แห่งนั้นถูกพวกโจรจับไว้มารดาของสามเณรบ่นเพ้อว่าสามเณรทำไมไม่บอกแม่สักคำว่ามีพวกโจรอาศัยอยู่ในป่านี้หัวหน้าพวกโจรจึถามเอาความจริงมารดาของสามเณรจึงเล่าให้ฟังว่าพวกเขาเป็น มารดาบิดาของสามเณรและลูกที่มาด้วยนี้คือพี่น้องของสามเณร  หัวหน้าโจรได้ฟังดังนั้น เกิดความเลื่อมใส ในความมีสัจจะของสามเณรที่รับปากไว้ว่าจะไม่บอกใครว่ามีพวกโจรอาศัยอยู่ในป่านี้จึงปล่อยคนเหล่านั้นแล้วพาลูกน้องทั้งหมดติดตามไปขอบวชกับสามเณร สามเณรให้พวกโจรเหล่านั้นรับไตรสรณคมน์และสิกขาบท ๑๐ แล้ว นำไปขออุปสมบทกับพระอุปัชฌาย์ของตนคือพระสังกิจจเถระ[๓]
          การรักษาสัจจนอกจากจะมีผลทำให้ผู้รักษาเป็นที่เคารพนับถือของคนอื่นแล้วการทำสัจจกิริยาหรือการตั้งสัจจะอธิษฐานยังทำให้ผู้ที่ตกอยู่ในอันตรายรอดพ้นจากอันตรายได้ด้วยดังตัว อย่างเรื่องสามกุมารในสุวรรณสามชาดความย่อว่าสามกุมารเป็นคนมีเมตตาเป็นที่รักของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายเขาอาศัยอยู่ในป่าเลี้ยงมารดาบิดาตาบอดทั้งสออยู่มาวันหนึ่งขณะที่เขาเดินไปตักน้ำที่ ท่าน้ำ พร้อมกับพวกสัตว์ทั้งหลายที่ติดตามเขาไป ถูกพระเจ้าปิลยักษ์ยิงด้วยธนู ได้รับความเจ็บปวด     อย่างหนัก จึงอ้อนวอนให้พระเจ้าปิลยักษ์ไปบอกให้มารดาบิดาของเขาทราบด้วย  พระเจ้าปิลยักษ์ก็ไปตามคำขอร้องของสามกุมาร  บิดามารดาของสามกุมารมาแล้วรู้ว่าอาการของลูกชายหนักมากโอกาสรอดชีวิตมีน้อย ด้วยความรักลูกชายจึงตั้งสัจจอธิษฐานขอให้ลูกชายฟื้นและหายจากบาด แผลและความ เจ็บปวด เทวดาผู้เคยเป็นมารดาของสามกุมารก็มาร่วมตั้งสัจจอธิษฐาน  ด้วยพอจบคำอธิษฐานของ  มารดาบิดาและเทวดาเท่านั้น สามกุมารก็ฟื้นขึ้นมาและหายจากบาดแผล
และอาการบาดเจ็บ[๔]  การรักษาสัจจะเป็นทางให้ไปสู่ความเป็นหมู่ของเทวดา
จากตัวอย่างที่กล่าวมานี้แสดงให้เห็นว่าสัจจะเป็นคุณธรรมที่ทำให้มนุษย์ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนาได้ผู้ที่เป็นนักบริหารจึงควรปลูกฝังสัจจะให้เกิดขึ้นในจิตใจของตนเพื่อจะได้นำไปใช้ในการบริหารตนและบริหารคนให้ประสบความสำเร็จต่อไป
ทมะ การฝึกตน ผู้อยู่ครองเรือนต้องมีการพัฒนาตนเองอยู่ตลอเวลาเพื่อจะมีความรู้ใหม่ๆ มาบริหารในครอบครัวให้เจริญก้าวหน้าต่อไปการฝึกตนมีทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจและทักษะอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต เช่น เข้าฝึกอบรมหลักการวิชาการใหม่ๆ ตามโอกาสที่เหมาะสมการฝึกตนในทางพระพุทธศาสนาพระพุทธองค์ทรงสรรเสริญไว้ว่า ในบรรดามนุษย์ทั้งหลายผู้ที่ฝึกตนดีแล้วเป็นผู้ประเสริฐ[๕] บัณฑิตย่อมฝึกตน[๖]    
จากพระพุทธพจน์เหล่านี้พระองค์จึงทรงสละเวลาและกำลังแห่งพระวรกายของ พระองค์ให้กับการฝึกหัดบุคคลที่ควรฝึกได้ตลอดพระชนมายุ ๔๕ พรรษาที่ทรงเผยแผ่พระธรรมวินัยแก่ชาวโลกทั้งหลาย จะเห็นได้จากการที่พระองค์เสด็จไปคามนิคมน้อยใหญ่เพื่อแสดงพระธรรมเทศนาโปรดเวไนยสัตว์ที่มีอุปนิสัยจะได้บรรลุมรรคผลโดยไม่คำนึงถึงความเหน็ดเหนื่อยของพระองค์แม้ใกล้จะเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วยังแสดงพระเทศนาโปรดสุภัททปริพาชก  ดังเรื่องที่ปรากฏในพระมหาปรินิพพานสูตร[๗]นั้น บุคคลที่ฝึกตนเองได้แล้วจึงจะสามารถแนะนำตักเตือนคนอื่นได้ ถ้าตนเองยังไม่ได้ฝึกฝนอบรมตนให้ดีก่อนเมื่อไปแนะนำคนอื่นเขาก็จะไม่เชื่อฟังถ้อยคำของตนแถมยังจะถูกว่ากล่าวย้อนกลับมาหาตัวเองอีก  ผู้บริหารที่ดีต้องฝึกตนเองให้ดีก่อนแล้วค่อยไปบริหารคนอื่นแนะนำคนอื่น  การทอย่างนี้จึงจะประสบความสำเร็จในการบริหาร
ขันติความอดทนผู้บริหารต้องมีความอดทนอดกลั้นเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นหรือมีอุปสรรค เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นความอดทนต่อความลำบากทางด้านร่างกายที่จะต้องทำงานหนักหาเลี้ยงครอบ ครัว นอกจากนี้ยังต้องอดทนต่อความลำบากทางใจด้วย เช่น เมื่อมีเรื่องความขัดแย้งมากระทบจิตใจทำให้จิตใจเศร้าหมองขุ่นมัว  อดทนต่อคำด่าว่ากล่าวตักเตือนจากคนในครอบครัว ถ้าผู้บริหารมีขันติ ความอดทนจะทำให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพ เพราะความอดทนเป็นบ่อเกิดแห่งคุณธรรมทั้งหลายอีกมากมาย ดังพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ในโอวาทปาฏิโมกข์ว่า ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา ขันติ คือความอดทนอดกลั้นเป็นตบะอย่างยิ่ง[๘]
เรื่องของพระพุทธองค์ที่ถูกพวกรับจ้างจากพระนางคันทิยาพระมเหสีของพระเจ้าอุเทนให้มาด่าพระพุทธองค์ขณะที่เข้าไปบิณฑบาตในพระนครจนพระอานนทเถระทนไม่ไหวทูล เชิญพระองค์เสด็จไปเมืองอื่นพระพุทธองค์ตรัสว่าการทำอย่างนั้นไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกปัญหาเกิดที่ไหนต้อง แก้ที่นั่นแล้วพระองค์ก็อยู่ที่เมืองนั้นจนพวกที่ด่าหยุดด่าไปเอง[๙] 
จากตัวอย่างนี้จะเห็นว่าความอดทนสามารถแก้ปัญหาที่ร้ายแรงให้กลับกลายเป็นเบาและ หมดไปในที่สุด
ครั้งหนึ่งพระสารีบุตรเถระถูกพระภิกษุใหม่รูปหนึ่งติเตียนว่าเดินไปเหยียบชายจีวร  ล้ว ไม่ขอโทษแล้วนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระพุทธเจ้าพระองค์ตรัสเรียกพระสารีบุตรมาสอบถาม  พระสารีบุตรยอมรับว่าไม่ได้มีเจตนาแล้วลดตัวลงขอขมาโทษต่อพระภิกษุใหม่รูปนั้นทำให้พระภิกษุรูปนั้นถึงกับอดกลั้นน้ำตาไม่ไหวที่เห็นความเป็นคนสุภาพอ่อนโยนของพระสารีบุตร[๑๐]
จากตัวอย่างเรื่องนี้จะเห็นว่าความอดทนอดกลั้นต่อถ้อยคำด่าทอต่างๆ ทำให้เรื่องร้ายกลายเป็นดีทำให้ศัตรูกลายเป็นมิตรทำให้เกิดความรักความสามัคคีขึ้นในหมู่คณะในสังคมและประเทศชาติ
ตัวอย่างการใช้ขันติความอดทนต่อความลำบากทางใจเช่นเรื่องของทีฆาวุกุมารที่ปรากฏในพระวินัยปิฎกเล่มที่ ๕ ความย่อว่า ทีฆาวุกุมารเป็นโอรสของพระเจ้าทีฆีติ พระราชาแห่งนครโกศล  ต่อมานครโกศลถูกพระเจ้าพรหมทัต พระราชาแห่งนครพาราณสี ยกทัพมาตีและยึดเอาพระราชบัลลังก์พระเจ้าทีฆีติ จึงสั่งให้ทีฆาวุกุมารหลบหนีไปอยู่ที่อื่น ส่วนพระองค์และพระมเหสีปลอมตัวเป็นชาวบ้าน อาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง  ต่อมาถูกพระเจ้าพรหมทัตจับได้แล้วนำไปประหารชีวิต ขณะที่ถูกนำตัวเดินประจานไปตามถนนนั้นทีฆาวุก็แฝงตัวอยู่ในหมู่มหาชนเมื่อเห็นพระบิดาถูกทำทารุณอย่างนั้น ก็ทนไม่ไหว จึงวิ่งเข้าไปใกล้พระบิดา  พระเจ้าทีฆีติ  เห็นดังนั้นจึงห้ามด้วยถ้อยคำว่า ทีฆาวุ  เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว อย่าเห็นแก่สั้น เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร  พูดเตือนสติทีฆาวุกุมารอย่างนี้ถึง ๓ ครั้ง จนทำให้พวกทหารเข้าใจว่าพระเจ้าทีฆีติบ่นเพ้อเพราะความกลัวต่อมรณภัยที่จะมาถึง  เมื่อพระบิดาพระมารดาถูกประหารชีวิตทิ้งศพไว้อย่างน่าสลดสังเวช  ทีฆาวุกุมารก็แอบไปนำร่างของพระบิดาพระมารดามาทำฌาปนกิจ เสร็จเรียบร้อยแล้วก็ไปขอสมัครเป็นคนรับใช้คนเลี้ยงช้างของพระเจ้าพรหมทัต
ต่อมาได้รับความไว้วางใจจากพระเจ้าพรหมทัตจึงได้เข้าไปรับใช้อย่างใกล้ชิดใน พระราชวัง อยู่มาวันหนึ่งพระเจ้าพรหมทัตเสด็จไปล่าเนื้อในป่ากับพวกอำมาตย์โดยให้ทีฆาวุกุมาร เป็นนายสารถีคันที่พระเจ้าพรหมทัตประทับทีฆาวุแกล้งเร่งรถให้เร็วเพื่อไม่ให้พวกอำมาตย์ติดตามทันแล้วพาพระเจ้าพรหมทัตเข้าป่าลึก  ด้วยความเหน็ดเหนื่อยพระเจ้าพรหมทัตจึงบรรทมหลับไปบนตักของทีฆาวุกุมาร  ทีฆาวุกุมารเมื่อเห็นว่าได้โอกาสแล้วจึงถอดพระขรรค์ออกมาหวังจะปลงพระชนม์ของพระเจ้าพรหมทัตได้เงื้อพระขรรค์ขึ้นถึง ๓ ครั้งแต่ไม่กล้าเพราะระลึกถึงคำพูดของพระบิดา ขณะนั้นพระเจ้าพรหมทัตทรงสุบินและตกใจตื่นขึ้นพร้อมกับแก้ความฝันให้ทีฆาวุกุมารฟังว่ากำลังจะถูกพระโอรสของพระเจ้าทีฆีติฆ่า พอพูดจบทีฆาวุกุมารก็เอามือข้างหนึ่งจับที่หมวยผมของพระเจ้าพรหมทัตไว้ เอามือข้างหนึ่งเงื้อพระขรรค์ขึ้นเพื่อจะปลงพระชนม์พระเจ้าพรหมทัตพระเจ้าพรหมทัตพระเจ้าพรหมทัตเห็นดังนั้นก็ตกใจจึงร้องขอชีวิตไว้ทีฆาวุกุมารจึงลด พระขรรค์ลงพร้อมกับหมอบลงแทบพระบาทของพระเจ้าพรหมทัตพูดว่าข้าพระองค์ต่างหากที่ต้องขอชีวิตจากพระองค์พระองค์เป็นเจ้าชีวิตของข้าพระองค์ขอพระองค์จงไว้ชีวิตให้แก่ข้าพระองค์ด้วยพระเจ้าพรหมทัตและทีฆาวุกุมารต่างคนต่างก็ขอชีวิตจากกันและกัน ถือว่าเป็นผู้มีบุญคุณต่อกัน แล้วทำปฏิญญาต่อกันว่าจะไม่เป็นศัตรูต่อกัน ด้วยความเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนและซื่อสัตย์ของทีฆาวุกุมาร พระเจ้าพรหมทัตจึงยกพระธิดาให้เป็นมเหสีของทีฆาวุกุมารแล้วคืนพระราชสมบัติ ทุกอย่างที่เป็นของพระบิดาของทีฆาวุกุมาร ต่อมาเมื่อพระเจ้าพรหมทัตสวรรคต ทีฆาวุกุมารได้ครอบครองนครพาราณสี และนครโกศลพร้อมกัน[๑๑]
จากตัวอย่างที่กล่าวมานี้แสดงให้เห็นถึงอานิสงส์ของขันติความอดทนสามารถทำศัตรู ให้เป็นมิตรและยังเป็นเหตุนำมาซึ่งสมบัติอันยิ่งใหญ่สมกับพระพุทธพจน์ที่ได้ยกมาในเบื้องต้นนั้น
จาคะความเสียสละในที่นี้มีความหมาย ๒ นัยคือนัยแรกเสียสละแบ่งปันสิ่งของที่หามาได้     ห้แก่คนในครอบครัวอย่างเป็นธรรมไม่ลำเอียง  นัยที่สอ  เสียสละหรือสละอารมณ์ที่เป็นข้าศึก ต่อจิตใจที่ทำให้ใจเศร้าหมองขุ่นมัวอารมณ์โกรธความเคียดแค้นชิงชังความเกลียดความอาฆาตจอง เวรความพยาบาทปองร้ายเป็นต้นเมื่ออารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้นต้องเสียสละออกไปจากจิตใจไม่ปล่อย ให้อารมณ์เหล่านี้อยู่ในจิตใจนานเพราะจะทำให้เสียสุขภาพกายและใจเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงาน การสละสิ่งของของตนให้คนอื่นที่ควรให้เป็นเรื่องที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญและยกย่อง  ดังที่พระองค์ได้วางหลักการปฏิบัติไว้สำหรับพวกภิกษุทั้งหลายว่าให้แบ่งปันเอกลาภที่เกิดขึ้นในวัดแก่ภิกษุที่มาถึงเช่นทรงอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์ทำการอปโลกกรรมแบ่งปันสิ่งของให้ถึงแก่สงฆ์ทุกรูป
ตามลำดับพรรษา ทรงบัญญัติพระวินัยไว้ให้ภิกษุสละผ้าจีวรที่อยู่ปราศจากคือปล่อยให้ผ้าอยู่ที่หนึ่ตัวเองอยู่ที่หนึ่งจนอรุณของวันใหม่ขึ้นไป ทำให้ผ้านั้นเป็นนิสสัคคีย์คือเป็นผ้าที่ควรสละเสียก่อน ส่วนตัวภิกษุเป็นอาบัติปาจิตตีย์ต้องนำผ้าผืนนั้นไปทำพิธีสละให้เป็นสมบัติของภิกษุรูปอื่นเสียก่อนแล้วให้ภิกษุรูปนั้นคืนให้ในภายหลัง จึงแสดงอาบัติต่อหน้าภิกษุรูปนั้นหรือรูปอื่นก็ได้ การทำอย่างนั้นจึงจะพ้นจากอาบัติที่ต้องนั้น
มีข้อความปรากฏในปราภวสูตร[๑๒]ตอนหนึ่งว่าผู้ที่มีของเหลือกินเหลือใช้ไม่แบ่งปันให้คนอื่นหรือคนรอบข้างกลับใช้สอยสิ่งเหล่านั้นเพียงผู้เดียวพระพุทธองค์ตรัสว่าการทำอย่างนั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมของคนนั้น
ในทางพระพุทธศาสนาการสละแบ่งปันสิ่งของของตนให้คนอื่นหรือการถวายสิ่งของของตนให้เป็นทานแก่สงฆ์หรือแก่บุคคลเป็นอุบายเครื่องละกิเลสอย่างหยาบ คือความตระหนี่ออกจากจิตใจของตนทำให้จิตใจของตนเป็นอิสระจากความตระหนี่ซึ่งเป็นเครื่อง ผูกพันจิตใจอย่างหนึ่ง ในโอวาทปาฏิโมกข์ซึ่งเป็นคำสอนที่ถือว่าเป็นหัวใจหลักของพระพุทธ ศาสนาที่พระองค์ทรงแสดงแก่พระอรหันต์สาวกจำนวน ๑,๒๕๐ รูปที่มาประชุมกันที่พระเวฬุวัน อุทยานป่าไผ่ที่พระเจ้าพิมพิสารถวายให้เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระสาวกนั้น พระองค์ได้แนะนำให้สละอารมณ์ที่เป็นข้าศึกแก่จิตใจด้วยการให้ชำระจิตใจของตนให้สะอาดให้ ผ่องใสจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย เครื่องเศร้าหมองในที่นี้คือกิเลสทั้งหลาย เช่น ความกำหนัดยินดีใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่มากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น และร่างกาย ความโกรธ ความอาฆาต ความพยาบาทปองร้าย  สิ่งเหล่านี้ทำให้จิตใจเศร้าหมองไม่ปลอดโปร่ง บดบังปัญญา   ปิดกั้ไม่ให้ คนบรรลุถึงความดีที่ควรจะได้
เมื่อผู้นำเข้าใจหลักการเหล่านี้แล้วนำไปบริหารตนเอง  บริหารงานในครอบครัว แลใน องค์กรที่ตนรับผิดชอบอยู่จะทำให้การบริหารงาประสบ ความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้  มีหลักฐานตามที่ได้ศึกษามานี้และตามหลักฐานที่พระพุทธองค์ได้ตรัสแก่อาฬวกยักษ์ในอาฬวกสูตรตอนหนึ่งว่า
                                    ในโลกนี้    เหตุให้ได้เกียรติที่ยิ่งไปกว่า สัจจะ ก็ดี
                                    เหตุให้มีปัญญาที่ยิ่งไปกว่า ทมะ ก็ดี
                                    เหตุให้ผูกมิตรสหายไว้ได้ที่ยิ่งไปกว่า จาคะ ก็ดี
                                    เหตุให้หาทรัพย์ได้ที่ยิ่งไปกว่า ขันติ ก็ดี    มีอยู่หรือไม่[๑๓]
เมื่อพระพระพุทธองค์ตรัสถามจบ  อาฬวกยักษ์กราบทูลว่า ไม่มีสิ่งใดที่จะยิ่งไปกว่าหลักธรรมทั้ง ๔ อย่างนี้ คือ ไม่มีเหตุอื่นที่จะให้ได้เกียรติยิ่งไปกว่า สัจจะ ความซื่อสัตย์ ไม่มีเหตุอื่นที่จะให้เกิดปัญญายิ่งไปกว่า ทมะ การฝึกฝนอบรมตน ไม่มีเหตุอื่นที่จะผูกมิตรไว้ได้ยิ่งไปกว่า จาคะ การเสียสละแบ่งปัน ไม่มีเหตุอื่นที่จะทำให้หาทรัพย์ได้ยิ่งไปกว่า ขันติ  ความอดทน


๔. การนำหลักฆราวาสธรรมไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
๑) บิดามารดา นายจ้างกับลูกจ้าง มีความซื่อสัตย์ต่อกัน สามีไม่ปิดบังภรรยา ไม่นอกใจภรรยา ภรรยาไม่นอกใจสามี มีความซื่อสัตย์ต่อกัน พูดความจริงต่อกัน ไม่โกหกหลอกลวงกัน บิดามารดา มีความซื่อสัตย์ต่อบุตรธิดา เช่น รับปากว่า จะให้สิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่งต้องทำตามสัญญาที่ให้ไว้ จะทำให้บุตรธิดา เกิดความเชื่อมั่นในบิดามารดา  บุตรธิดา มีความซื่อสัตย์ต่อบิดามารดา เช่น ไม่โกหกเพื่อให้บิดามารดาให้สิ่งของเกินความจำเป็น รับปากว่าจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ให้ ต้องทำตามที่รับปากไว้  กรณีของนายจ้างกับลูกจ้างก็ให้ปฏิบัติตามนัยที่กล่าวมานี้เหมือนกัน
๒) ผู้บริหารหรือผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวหรือองค์กรต้องหมั่นฝึกฝนอบรมตนอยู่ตลอดเวลา เพื่อที่จะได้เรียนรู้หลักการบริหารใหม่ๆ มาบริหารคนในครอบครัวและองค์กรให้เจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้น การฝึกฝนอบรมตนเองจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีในตัวเอง และจะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตนเอง เมื่อได้รับความเชื่อถือแล้วการสั่งงานหรือการดำเนินกิจการใดๆ ก็จะเป็นไปโดยสะดวก ไม่มีอุปสรรคขัดขวาง การฝึกตนเองมีอยู่หลายวิธี เช่น การเรียนรู้ตามตำรา การสอบถามจากคนผู้มีประสบการณ์โดยตรง การลงมือทดลองปฏิบัติด้วยตนเอง เป็นต้น วิธีเหล่านี้จะช่วยให้เกิดการพัฒนาตนเองเป็นอย่างดี
๓) ผู้บริหารหรือผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวหรือองค์กรต้องมีความหนักแน่นมั่นคง ไม่หวั่นไหวเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในครอบครัวหรือองค์กร ธรรมดาการอยู่ด้วยกันหลายคนย่อมจะมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง ทั้งทางกิริยาท่าทางและทางวาจา ต้องอดทนต่อกิริยานั้นๆ ให้ได้ไม่แสดงอาการอันไม่พึงประสงค์ออกมา ที่จะทำให้เกิดความขาดความเชื่อมั่นในผู้บริหาร หรือผู้นำ ปัญหาบางอย่างไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยเหตุผลหรือวิธีการ เช่น ปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวหรือองค์ ต้องอาศัยกาลเวลาเป็นตัวแก้ปัญหา ลักษณะอย่างนี้ผู้บริหารต้องอาศัย ขันติ  ความอดทน
๔) ผู้บริหารต้องเสียสละแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในครอบครัวหรือในองค์กรให้แก่สมาชิกอย่างเป็นธรรม ไม่ลำเอียง คือไม่เห็นแก่หน้า เช่น ไม่คำนึงถึงว่า สมาชิกคนนั้นจะเป็นใคร ทุกคนควรที่จะได้ส่วนแบ่งตามสิทธิและหน้าที่ของตน สมาชิกในครอบครัวหรือในองค์กรทุกคนก็ต้องรู้จักเสียสละแบ่งปันสิ่งของของตนให้แก่สมาชิกคนอื่นบ้างตามสมควรแก่ฐานะของตน และเสียสละแบ่งปันความมีน้ำใจต่อกัน ให้อภัยแก่กันและกันในบางเรื่องที่เห็นว่าสมาชิกบางคนทำผิดหรือไม่เหมาะสม
๕. บทสรุป
การบริหารงานเป็นเรื่องสำคัญเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์อยู่ในตัว  หมายความว่า ผู้บริหารต้องมีศาสตร์คือความรู้เกี่ยวกับการบริหารงาน เช่น หลักฆราวาสธรรมนี้ถือว่าเป็นศาสตร์แห่งการบริหารงาน ส่วนศิลปะในการบริหารนั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคน บางคนใช้หลัก สัจจะ เหมือนกัน แต่วิธีการอาจจะเหมือนกัน  แต่ศาสตร์และศิลป์ทั้งสองอย่างนี้ต้องดำเนินไปด้วยกันจึงจะทำให้การบริหารงานประสบความสำเร็จ อุปมาเหมือนกับมีข้าวและกับข้าวแล้ว ถ้าไม่รู้จักวิธีนำมาปรุงเป็นอาหารก็ไม่เกิดประโยชน์แก่เจ้าของ และไม่ทำให้แก้ปัญหาคือความหิวของตนให้หายไปได้  การมีความรู้ก็เหมือนกับมีข้าวและกับข้าว การนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารงาน เปรียบเหมือนการนำข้าวและกับข้าวมาปรุงเป็นอาหารแล้วรับประทานทำให้อิ่มและหายจากความหิวได้  หลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับบริหารงานมีหลายหมวด แต่หลักฆราวาสธรรมนี้เป็นหลักธรรมหนึ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนสามารถนำมาเป็นแนวทางในการบริหารงานในครอบครัวและองค์กรที่จะทำให้ได้รับประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่ตามหลักฐานตัวอย่างที่ได้ศึกษามานั้น


หนังสืออ้างอิง
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาบาลี  ฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๐๐.
__________. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.
__________. อรรถกถาบาลี ฉบับมหาจุฬาอฏฺฐกถา. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์วิญญาณ, ๒๔๙๙,๒๕๓๓-๒๕๓๔.
มหามกุฏราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกพร้อมอรรถกถาแปล. ชุด ๙๑ เล่ม. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๔.
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๔๒. กรุงเทพมหานคร : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, ๒๕๔๖.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์. พิมพ์ครั้งที่ ๑๖. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๕๔.
พระมหาบุญมี  มาลาวชิโร. พุทธบริหาร. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ธิงค์ บียอนด์ บุ๊คส์ จำกัด, ๒๕๕๓.
ชาย  สัญญาวิวัฒน์, สัญญา  สัญญาวิวัฒน์. การบริหารจัดการแนวพุทธ. พิมพ์ครั้งที่ ๒.  กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๑.






[๑] องฺ.จตุกฺก. (ไทย) ๒๑/๓๒, ๒๕๖/๕๑, ๓๗๓, ดูเพิ่มเติมใน พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์, พิมพ์ครั้งที่ ๑๖, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ บริษัท สหธรรมิก  จำกัด, ๒๕๕๔), หน้า ๕๔.

[๒] สํ.ส. (บาลี) ๑๕/๒๑๓/๑๓๙, สํ.ส. (ไทย) ๑๕/๒๑๓/๓๑๐.
[๓] ดูรายละเอียดใน ขุ.ธ.อ. (ไทย) ๑-๔/๘๙/๓๗๐-๓๗๖, มงฺคล. (ไทย) ๑/๕๓/๓๒.
[๔] ขุ.ชา. (ไทย) ๒๘/๒๙๖-๔๒๐/๒๒๙-๒๔๕, ขุ.ชา.อ. (ไทย) ๙/๓/๖๓.
[๕] ขุ.ธ. (บาลี) ๒๕/๓๒๑/๓๓, ขุ.ธ. (ไทย) ๒๕/๓๒๑/๑๓๓.
[๖] ขุ.ธ. (บาลี) ๒๕/๘๐/๑๔, ขุ.ธ. (ไทย) ๒๕/๘๐/๕๓.
[๗] ที.ม. (ไทย) ๑๐/๒๑๒/๑๖๐-๑๖๔.
[๘] ขุ.ธ. (บาลี) ๒๕/๑๘๔/๒๒, ขุ.ธ. (ไทย) ๒๕/๑๘๔/๙๐.
[๙] ดูรายละเอียดใน ขุ.ธ.อ. (ไทย) ๑-๔/๑๕/๑๑๗.
[๑๐] ดูรายละเอียดใน ขุ.ธ.อ. (ไทย) ๑-๔/๗๖/๓๓๙.
[๑๑] ดูรายละเอียดใน วิ.ม. (ไทย) ๕/๔๕๘-๔๖๓/๓๔๓-๓๕๓.
[๑๒] ขุ.สุตฺต. (ไทยป ๒๕/๑๐๒/๕๒๕.
[๑๓] ขุ.อิติ. (ไทย) ๒๕/๑๙๑/๕๔๕.

บทความเรื่อง การบริหารงานตามหลักสังคหวัตถุในพระพุทธศาสนา



การบริหารงานตามหลักสังคหวัตถุในพระพุทธศาสนา

เขียนโดย พระมหาธานินทร์  อาทิตวโร ดร.
มจร. วิทยาลัยสงฆ์เลย

๑. บทนำ
งานวิจัยในโลกนี้มีผลเป็นจริงอยู่ในระยะหนึ่งสมัยหนึ่งก็ต้องเปลี่ยนแปลงเพราะกาลเวลาผ่านไปมีทฤษฎีใหม่มาล้มล้าง  ทฤษฎีเก่าหรือความเชื่อเก่าก็ตกไป เช่น ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ของอริสโตเติลที่ว่า โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ในขณะที่โคเปอร์นิคัสเห็นว่า ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะจักรวาล ต่อมา กาลิเลโอ นักดาราศาสตร์และนักฟิสิกส์ยุคใหม่ชาวอีตาลี ได้ค้นพบแล้วสนับสนุนแนวคิดของโคเปอร์นิคัส[๑]
กาลิเลโอ ได้ค้นพบทฤษฎีใหม่เกี่ยวกับการตกลงของวัตถุที่มีน้ำหนัก ไม่เท่ากันแต่จะ ลงถึงพื้นดินพร้อมกัน ซึ่งแตกต่างจาก ทฤษฎีที่อริสโตเติลเคยอธิบายไว้ว่า  การ ที่สิ่งของตกลงสู่พื้นดินนั้น เป็นเรื่องของการเคลื่อนที่ตามธรรมชาติ มิได้มีเรื่องของแรงมาเกี่ยวข้อง  หากเป็นเพราะโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ทุกสิ่งจึงต้องเคลื่อนที่เข้าสู่ศูนย์กลางของโลก[๒] หรืออธิบายให้เข้าใจง่ายก็คือ วัตถุที่มีมวลต่างกัน เมื่อปล่อยให้ตกลงมา วัตถุที่หนักจะตกถึงพื้นก่อน[๓]
กาลิเลโอได้ทำการทดลอง ณ หอเอนแห่งเมืองปิซา (Piza) โดยพิสูจน์ให้เห็นว่า วัตถุต่างชนิดตกลงสู่พื้นโลก  ด้วยความเร่งที่เท่ากัน  แนวความคิดนี้ถูกนำไปพัฒนาต่อโดย เซอร์ไอแซค นิวตัน นักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษในยุคต่อมา[๔]  กาลิเลโอได้ทำการปล่อยวัตถุที่มีมวลต่างกัน ๒ ชิ้น ในเวลาพร้อมกัน ซึ่งวัตถุดังกล่าว ได้ตกลงมาภายใต้แรงโน้มถ่วงโลก และถึงพื้นเกือบจะพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่าความคิดของอริสโตเติลนั้นไม่ถูกต้อง[๕]
จากข้อความข้างต้นนี้จะเห็นว่าความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่หลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบแล้วนำมาสอนสาวกยังคงให้ผลตามที่พระองค์ตรัสไว้ทุกประการไม่เคยเปลี่ยนแปลง ทนต่อการพิสูจน์ เช่น หลักสังคหวัตถุนี้ ซึ่งเป็นหลักคำสอนที่พระพุทธองค์วางไว้เพื่อเป็นแนวทางแก่การปฏิบัติต่อกันของสาวกให้เกิดความไมตรีต่อกันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของกันและกัน หลักสังคหวัตถุ การสงเคราะห์กันและกันเป็นหลักที่จำเป็นต่อสังคมที่อยู่ร่วมกันโดยเฉพาะ ทาน การให้สิ่งของแก่ผู้ร่วมงาน เป็นการให้กำลังใจแก่ผู้ร่วมงาน ซึ่งการให้กำลังใจแก่ผู้ร่วมงานมีหลายวิธี การใช้วาจาไพเราะ สุภาพอ่อนโยนก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ร่วมงานเกิดความประทับใจ มีกำลังใจที่จะทำงานอย่างมีความสุข การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การวางตนให้เสมอต้นเสมอปลายหรือการเอาตนเข้าไปเชื่อมประสานกับเพื่อนร่วมงานคือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ก่อให้เกิดความรักความสามัคคีในองค์กร หลักธรรมนี้ยังไม่มีทฤษฎีสมัยใหม่ของใครมาล้มล้างได้จนเวลาล่วงมาสองพันปีเศษแล้ว
ในบทความนี้ผู้เขียนจะได้อธิบายให้เห็นว่าหลักสังคหวัตถุสามารถนำมาใช้ในการบริหารงานได้ผลจริง และเพื่อให้ทราบว่าพระพุทธเจ้าได้วางหลักการนี้ไว้อย่างไร มีอะไรบ้าง  ถ้าปฏิบัติตามแล้วจะมีผลจะเป็นอย่างไร  จึงทำให้หลักการนี้ให้ผลสำเร็จแก่ผู้ปฏิบัติตามจนถึงปัจจุบัน  
๒. ความหมายของสังคหวัตถุ
สังคหวัตถุ  หมายถึง เรื่องที่จะสงเคราะห์กัน, คุณเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวใจของผู้อื่นไว้ได้, หลักการสงเคราะห์ คือช่วยเหลือกันยึดเหนี่ยวใจกันไว้  และเป็นเครื่องเกาะกุมประสานโลกคือสังคมแห่งหมู่สัตว์ไว้ดุจสลักยึดรถที่กำลังแล่นไปให้คงเป็นรถและวิ่งแล่นไปได้ มี ๔ อย่าง คือ ทาน  การแบ่งปันเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ปิยวาจา พูดจาน่ารัก น่านิยมนับถือ อัตถจริยา การบำเพ็ญประโยชน์  สมานัตตตา  ความมีตนเสมอ  คือ ทำตัวให้เข้ากันได้ เช่น ไม่ถือตัว ร่วมสุขร่วมทุกข์กัน[๖]
๓. วิเคราะห์การบริหารตามหลักสังคหวัตถุ ๔
๓.๑ การบริหารตามหลักทาน
หลักของทาน การให้สิ่งของของตนแก่คนที่ควรให้  สถาบันครอบครัวการให้สิ่งของเป็นสิ่งที่หัวหน้าครอบครัวต้องเรียนรู้ คือต้องรู้จักการให้โดยเฉพาะการแบ่งปันทรัพย์สินหรือมรดกให้แก่สมาชิกในครอบครัวต้องทำด้วยความยุติธรรมปราศจากอคติ  ทานในทางพระพุทธศาสนามี ๒ อย่าง คือ อามิสทาน การให้สิ่งของ และธรรมทาน  การให้ธรรมะ[๗] ทานเป็นหลักพื้นฐานการบำเพ็ญบุญของชาวพุทธ คือหลักบุญกิริยาวัตถุ ๓ ได้แก่ ทาน ศีล ภาวนา[๘] การให้ทานตามหลักพุทธศาสนาเป็นการจำกัดกิเลสอย่างหยาบ คือ กำจัดความตระหนี่ออกจากจิตใจของตน นอกจากนี้ผู้ที่ชอบให้ทานยังเป็นที่รักของผู้รับอีก ดังพระพุทธพจน์ว่า ททมาโน   ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก[๙] หรือ ททํ มิตฺตานิ คนฺถติ ผู้ให้ย่อมผูกใจหมู่มิตรไว้ได้[๑๐] เนื้อความคาถาในคัมภีร์วิสุทธิมรรคกล่าวถึงอานิสงส์ของการให้ว่า
การให้ ปราบคนที่ใคร ๆ ปราบไม่ได้ (ก็ได้) การให้ ยังสิ่งประสงค์ทั้งปวงให้สำเร็จ (ก็ได้) ด้วย การให้กับการเจรจาไพเราะ (ประกอบกันทำให้) คนทั้งหลายเงยก็มี ก้มก็มี[๑๑]
การให้วัตถุสิ่งของสามารถผูกสัมพันธไมตรีของคนที่เป็นบริวารไว้ชั่วนิรันดร เช่น เรื่องของนายปุณณะ คนใช้หรือทาสของเมณฑกเศรษฐี ปู่ของนางวิสาขามหาอุบาสิกา ด้วยความผูกพันในเจ้านายทำให้นายปุณณะอธิษฐานขอให้เกิดมาเป็นทาสของเจ้านายทุกภพทุกชาติ[๑๒] นายประสิทธิ์  กาญจนวัฒน์ เพื่อนร่วมงานของนายชิน  โสภณพนิช ผู้ก่อตั้งธนาคารกรุงเทพ ความเป็นผู้ให้ของนายชิน ทำให้นายประสิทธิ์ ซาบซึ้งน้ำใจของเพื่อนจึงไม่ยอมไปทำงานที่อื่น นายประสิทธ์กล่าวว่าบางครั้งนายชินซื้อหุ้นแล้วแบ่งให้โดยที่นายประสิทธิ์ไม่ได้ลงทุนร่วมเลย แต่นายชินก็แบ่งให้ เป็นน้ำใจที่ทำ ให้นายประสิทธิ์ประทับใจอยู่ตลอดและเป็นเหตุให้เขาอยู่ช่วยนายชินตลอดมา[๑๓]
การให้มีหลายอย่างหลายวิธีไม่ได้หมายถึงการให้วัตถุสิ่งของอย่างเดียว การช่วยงานตามสมควรแก่โอกาส การมีน้ำใจต่อกันบนท้องถนนของผู้ขับขี่ยานพาหนะ การลุกให้คนแก่หรือ สตรีนั่งขณะอยู่บนรถโดยสารประจำทาง  การแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต การให้อภัยแก่ผู้ทำความผิดที่กลับตัวแล้ว หรือการให้อภัยแก่กันและกันไม่ผูกอาฆาตปองร้ายกันกับผู้ที่มีกรณีทะเลาะวิวาทกัน ก็ถือว่าเป็นการให้เหมือนกัน โดยเฉพาะการให้อภัยนั้น ถือว่าเป็นการให้ที่ประเสริฐ ทำให้ไม่ต้องมีเวรต่อกันและกันต่อไปอันเป็นเรื่องที่ทนทุกข์ทรมานไปนานแสนนาน มีผลเทียบเท่ากับการให้ทานซึ่งถือว่าชนะการให้ทุกอย่าง ดังพระพุทธพจน์ว่า สพฺพาทานํ ธรรมทานํ ชินาติ การให้ทานชนะการให้ทั้งปวง[๑๔]
การผูกพยาบาทอาฆาตต่อกันก็เป็นการก่อเวรไม่มีที่สิ้นสุด ดังพระพุทธพจน์ว่า
อกฺโกจฺฉิ มํ อวธิ มํ อหาสิ เม
เย จ ตํ อุปนยฺหนฺติ เวรํ เตสํ น สมฺมติ
ผู้ที่เข้าไปผูกเวรว่า ผู้นั้นได้ด่าเรา ได้ฆ่าเรา
ได้เบียดเบียนเรา  เวรของพวกเขาย่อมไม่ระงับ[๑๕]
จากพระพุทธพจน์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่า การผูกพยาบาท อาฆาตต่อกันไม่สามารถทำให้เวรกรรมสิ้นสุดได้ และไม่สามารถทำศัตรูให้เป็นมิตรได้ การให้อภัยแก่กันเป็นแนวทางในการตัดเวรตัดกรรมกับเจ้ากรรมนายเวรที่ดีสุด มีคุณค่ามากเปรียบเสมือนการให้ธรรมทาน เพราะฉะนั้นผู้บริหารจึงไม่ควรผูกเวรกับใครเพราะนอกจากจะทำให้เสียเพื่อนร่วมงานร่วมธุรกิจแล้วยังเป็นการสร้างเจ้ากรรมนายเวรใหม่ให้กับตัวเองด้วย
๓.๒ การบริหารตามหลักปิยวาจา
คำพูดไพเราะ หรือการใช้วาจาสุภาพอ่อนโยนกับเพื่อนร่วมงานกับคนในครอบครัว จะทำให้ผู้ฟังรู้สึกประทับใจและมีกำลังในการทำงาน การใช้คำพูดมีประโยชน์ต่อการบริหารงานหรือต่อการดำเนินชีวิตเป็นอย่างยิ่ง สุนทรภู่ นักกวีเอกของโลกได้ประพันธ์บทกลอนเกี่ยวกับการใช้วาจาไว้หลายสำนวน เช่น ว่า
อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก
แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย
แม้นเจ็บอื่นหมื่นแสนจะแคลนคลาย
เจ็บจนตายเพราะเหน็บให้เจ็บใจ
อีกบทหนึ่งว่า
ถึงบางพูด พูดดีเป็นศรีศักดิ์
มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร
จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา[๑๖]
ในชาดกมีเรื่องโคนันทิวิสาล เป็นตัวอย่าง โคนันทิวิสาล เป็นสัตว์กตัญญูต่อเจ้าของเป็นวัวมีกำลังพิเศษสามาราถลากเกวียนร้อยเล่มได้ อยู่มาวันหนึ่งโคนันทิวิสาลคิดสงสารเจ้าของที่ลำบากทำงานหนักเพราะฐานะยากจน จึงบอกพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าของว่าให้ไปท้าพนันแข่งขันลากเกวียนที่บรรทุกของเต็มทุกเล่มจำนวนหนึ่งร้อยเล่มกับเศรษฐีว่า วัวของเขาสามารถลากเกวียนให้เคลื่อนที่จากเกวียนเล่มสุดท้ายไปถึงที่ที่เกวียนเล่มแรกจอดอยู่ได้ เจ้าของก็ไปท้าพนันแต่พอถึงวันแข่งขันเจ้าของกลับใช้วาจาไม่สุภาพกับโคตัวเองทั้งๆ ที่โคไม่เคยเป็นอย่างนั้นมาก่อน คือใช้คำว่า เจ้าโคโกงจงลากเกวียนไป โคได้ฟังแล้วก็หมดกำลังใจจึงยืนอยู่กับที่ไม่ยอมลากเกวียนไป  ทำให้เจ้าของแพ้การพนัน พอกลับมาถึงบ้านเจ้าของเสียใจมากนั่งซึมเศร้าอยู่ โคนันทิวิสาลเห็นเจ้าของนั่งคอตกด้วยความเสียใจ จึงเข้าไปปลอบว่า พ่อไม่ต้องเสียใจให้ไปท้าพนันใหม่ แต่คราวนี้พ่อต้องใช้คำพูดดีๆ ไม่ให้พูดว่า โคโกง เพราะเขาไม่ชอบ เจ้าของฟังแล้วจึงไปท้าพนันใหม่ คราวนี้เจ้าของพูดกับโคด้วยคำไพเราะ ทำให้โคมีกำลังใจ ลากเกวียนไปได้รับชัยชนะ[๑๗]
จากตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า การใช้วาจาสุภาพอ่อนโยน ทำให้ผู้ฟังเกิดสบายใจมีกำลังใจพร้อมที่จะทำงานทุกอย่างแม้จะยากลำบากก็ไม่ยอมย่อท้อ ไม่ว่าแต่การใช้คำสุภาพอ่อนโยนกับมนุษย์เท่านั้นแม้แต่สัตว์เดรัจฉานยังต้องการคำพูดไพเราะ สุภาพอ่อนโยน
การที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชตอบปฏิเสธเมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ของฝรั่งเศสส่งศาสนทูตมาเชิญให้เข้ารีตคือเข้านับถือศาสนาคริสต์ด้วยพระองค์ทรงใช้วาจาที่ไพเราะว่า ถ้าเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า  พระองค์คงจะดลใจให้เข้านับถือเอง การที่พระเจ้าไม่ทรงดลใจอย่างนั้นคงเป็นเพราะพระประสงค์ของพระเจ้าที่ไม่ต้องการให้เข้ารีตด้วย การตอบปฏิเสธของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในครั้งนั้นไม่ทำให้ฝรั่งเศสเสียใจอะไร ไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์ต่อกันลดน้อยลง ลักษณะอย่างนี้ถือว่าเป็นการใช้ปิยวาจาในการบริหารที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง[๑๘]
ปิยวาจา ไม่ได้หมายความว่า วาจาอ่อนหวานเป็นที่รักแก่ผู้ฟังอย่างเดียว วาจาที่เปล่งออกไปแล้วทำให้ผู้ฟังได้สติ ได้ข้อคิดสะกิดใจสามารถเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนความคิดผิดเป็นความคิดถูกก็ถือว่า ปิยวาจา เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างที่พระองค์ทรงใช้วาจาโต้ตอบข้อกล่าวหาของเวรัญชพราหมณ์ที่ไปกล่าวหาพระองค์ต่างๆ เช่น ว่าพระองค์เป็นคนชอบกำจัด คือทำลายประเพณีเดิมๆ ของพวกพราหมณ์ พระองค์ทรงยอมรับว่าพระองค์ชอบกำจัด แต่ทรงกำจัดในความหมายของพระองค์คือชอบกำจัดกิเลส กำจัดความแข็งกระด้าง ความก้าวร้าว ด้วยการวางหลักพระวินัยให้พระสาวกได้ใช้เป็นเครื่องฝึกหัดปรับปรุงพฤติกรรมให้ดีงามน่าเลื่อมใส  ลีลาการใช้วาจาตอบโต้ในลักษณะอย่างนี้ของพระองค์ทำให้เวรัญชพราหมณ์ยอมรับนับถือและยอมมอบตัวเป็นสาวก รับเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดไป[๑๙]
๓.๓ การบริหารตามหลักอัตถจริยา
อัตถจริยา คือ การประพฤติให้เป็นประโยชน์ทั้งฝ่ายตนเองและคนอื่น หมายความว่า ต้องไม่ให้เสียประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ผู้บริหารต้องพัฒนาตนเองหรือสร้างฐานะของตนให้มั่นคงเสียก่อน และในขณะเดียวกันก็ไม่ละเลยประโยชน์ของเพื่อนร่วมงานหรือของคนรอบข้างหรือประโยชน์ที่เป็นสาธารณชนทั่วไป เช่น เข้าร่วมกิจกรรมส่วนรวมอย่างสม่ำเสมอ ตามโอกาส อันควร ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนฝ่ายเดียว การทำอย่างนี้จะทำให้เพื่อนร่วมงานและคนรอบข้างเกิดความประทับใจ แสดงถึงความมีน้ำใจของผู้บริหาร หรือผู้นำองค์กร ผู้นำครอบครัว เมื่อถึง คราวต้องทำประโยชน์ตนบ้างที่ต้องใช้คนช่วยเป็นจำนวนมาก ก็สามารถที่จะขอกำลังความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานและคนรอบข้างได้ และคนเหล่านั้นก็พร้อมที่จะช่วยเหลืออย่างภูมิใจอย่างเต็มใจ หรือถึงแม้ว่าการทำเพื่อประโยชน์ของคนอื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ก็เป็นการประพฤติประโยชน์ในความหมายนี้เหมือนกัน
ในเรื่องนี้พระพุทธองค์ทรงทำเป็นตัวอย่างมาแล้วตอนที่พระองค์ทรงบำรุงภิกษุอาพาธรูปหนึ่ง พระองค์เห็นภิกษุอาพาธถูกพวกภิกษุทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพังจึงเสด็จไปช่วยทำชำระร่างกายแล้วแสดงพระธรรมเทศนาให้ฟัง หลังจากนั้นพระองค์จึงตรัสพระดำรัสว่า ใครต้องการหรือปรารถนาจะอุปัฏฐากพระองค์ขอให้อุปัฏฐากภิกษุอาพาธ แล้วรับสั่งให้ภิกษุดูแลกันและกันเพราะว่าพวกเราได้สละครอบครัวญาติพี่น้องมาแล้ว ถ้าเราไม่ดูแลกันใครจะมาดูแล[๒๐]
๓.๔ การบริหารตามหลักสมานัตตตา
สมานัตตตา คือ การนำตนเข้าไปเชื่อสมานกับคนอื่น หรือการวางตนให้เสมอต้นเสมอปลายกับคนอื่นไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ร่วมสถาบันต่างๆ ในอาฬวกสูตร ตอนที่พระองค์ไปทรมานอาฬวกยักษ์ดุร้าย พระองค์ทรงทำตามที่ยักษ์สั่ง คือ ยักษ์สั่งให้ทำอะไรพระองค์ก็ทำตาม คือ ตอนแรกพระองค์ประทับอยู่ในที่พักของยักษ์ ยักษ์จึงสั่งให้พระองค์ออกมาจากที่พัก พระองค์ก็เสด็จออกมา ยักษ์สั่งให้พระองค์เข้าไป พระองค์ก็เสด็จเข้าไป ทำอย่างนี้ถึงสามครั้ง ครั้งที่สี่ยักษ์สั่งพระองค์เหมือนเดิมแต่พระองค์ไม่ยอมทำตามแล้วบอกกับยักษ์ว่า เธอจะทำอะไรก็ทำฉันจะไม่ออกไปอีกแล้ว ยักษ์พูดว่า เขาจะจับพระองค์ที่เท้าแล้วขว้างไปฟากฝั่งมหาสมุทรด้านโน้น พระองค์ตรัสว่า ในโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก พระองค์ยังไม่เห็นใครที่จะทำกับพระองค์ได้อย่างนั้น ว่าแล้วจึงสั่งให้ยักษ์ทำในสิ่งที่อยากทำ ยักษ์เห็นว่าคงทำอะไรพระพุทธเจ้าไม่ได้จึงถามปัญหากับพระองค์ พระองค์แก้ปัญหาได้จนทำให้อาฬวกยักษ์พอใจและยอมเป็นสาวก[๒๑]
จากตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า การลดความต้องการในส่วนของตนแล้วไปเพิ่มให้คนรอบข้างสามารถทำให้คนไม่ดีกลายเป็นคนดีได้ ถึงแม้ว่าผู้ที่เราจะเพิ่มให้นั้นมีเจตนาไม่ดีก็ตาม การทำอย่างนั้นประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ดังอาฬวกยักษ์นี้
การเอาใจเขามาใส่ใจเราเป็นเรื่องสำคัญในการผูกมิตรไมตรีกับผู้อื่นหรือกับคนรัก ตัวอย่างการนำตนเข้าไปสมานกับคนอื่น เช่น ภรรยากับสามี ภรรยาควรคอยสอบถามเอาใจใส่สามีและคอยให้กำลังใจ อาทิ ถ้าสามีกลับจากที่ทำงาน ภรรยาเห็นก็ควรจะเข้ามาทักทายด้วยถ้อยคำที่แสดงถึงความเป็นห่วง เช่นว่า งานเป็นอย่างไรบ้าง วันนี้เหนื่อยไหม งานหนักไหม  มาเหนื่อยๆ ดื่มน้ำเย็นๆ สักแก้วก่อนนะ ว่าแล้วก็นำน้ำดื่มมาให้สามี ลักษณะ อย่างนี้ เรียกว่าภรรยาเอาตัวเข้าไปสมานกับสามี  หรือ กรณีบุตรธิดากับบิดามารดา เช่น ลูกกลับจากโรงเรียนก่อนบิดามารดา ก็ช่วยทำงานบ้านรอ ถ้าเห็นบิดามารดากลับจากที่ทำงานก็วางงานของตนไว้ก่อนเข้าไปไหว้และถามบิดามารดาด้วยถ้อยคำสุภาพอ่อนโยน อาทิ หวัดดีครับหวัดดีคะพ่อ แม่ วันนี้ทำงานเหนื่อยไหม ดื่มน้ำก่อนนะหรือทานของว่างก่อนนะ หนูจะจัดให้ หรือถามว่า พ่อ แม่ ปวดเมื่อยตรงไหน หนูจะนวดให้ อย่างนี้ถือว่า ลูกได้เอาตัวเองเข้าไปสมานกับพ่อแม่
ถ้าครอบครัวใดปฏิบัติอย่างนี้จะทำให้คนในครอบครัวมีความสุข อยู่ด้วยกันด้วยความรักความเมตตาต่อกัน แต่ละคนก็จะมีกำลังในการทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ และงานก็จะประสบความสำเร็จ
ตัวอย่างเรื่องสามีเอาตัวเองไปเชื่อมสมานกับภรรยา ลดประโยชน์หรือความต้องการของตนเพื่อความสุขของภรรยา เช่น เรื่องนางพญาปลาดุก  ตอนที่พระนางพิมพาเถรี จะเสด็จปรินิพพาน พระนางได้ไปทูลลาพระผู้มีพระภาค แล้วขอขมาโทษล่วงเกินเผื่อว่าจะมีอยู่บ้างด้วยความพลั้งพลาด ทั้งในอดีตชาติและในชาติปัจจุบัน พระนางได้พูดถึงอดีตชาติตอนที่เป็นปลาดุก ขณะที่นางตั้งครรภ์ นางคิดอยากกินหญ้าอ่อน เพื่อบำรุงร่างกาย นางปลาดุกจึงบอกปลาดุกผู้สามีให้ไปคาบเอาหญ้าอ่อนมาให้  ด้วยความรักที่มีต่อภรรยา สามีก็ไป ไปถึงทุ่งนาแห่งหนึ่ง ขณะนั้นมีพวกเด็กเลี้ยงวัวยืนอยู่เป็นจำนวนมาก ปลาดุกพระโพธิสัตว์ก็หาจังหวะอยู่ พอพวกเด็กเผลอ ปลาดุกก็กระโดดกัดเอาหญ้าอ่อน พอพวกเด็กเห็นเท่านั้น ก็พากันรุมจับปลาดุกอย่างชุลมุน เอาไม้ตีที่หางปลาดุกจนหางขาด ปลาดุกพยายามหนีจนรอดชีวิตมาได้แต่ก็ได้รับบาดเจ็บสาหัส พอไปถึงก็คลายหญ้าอ่อนออกให้ภรรยาแล้วนอนหันหางให้ภรรยาดูบาดแผล ไม่นานนักก็สลบไปเพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว พระนางพิมพาเถรีเล่าเรื่องนี้เพื่อจะขอขมาสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ว่าในชาตินั้นพระนางได้ทำให้พระองค์ลำบากเพราะความอยากของนาง  ขอให้พระองค์ผู้เคยเป็นพระสวามีอดโทษให้ ขออย่าได้เป็นเวรภัยต่อนาง และชาตินี้ก็เป็นชาติสุดท้ายแล้ว ต่อไปจะไม่ได้พบกันอีกแล้ว[๒๒]
จากตัวอย่างนี้เป็นการใช้สมานัตตตาคือการเอาตนเข้าไปเชื่อมสมานกับคนรอบข้างเป็นการลดความต้องการในส่วนของตนแล้วไปเพิ่มให้กับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นสามีกับภรรยา หรือบิดามารดากับบุตรธิดา เป็นต้น ถ้าครอบครัวใดหรือองค์กรใดปฏิบัติอย่างนี้ จะนำความสุขความเจริญรุ่งเรืองมาสู่องค์กรและครอบครัวตลอดไป


๔. บทสรุป
การบริหารงานตามหลักสังคหวัตถุในพระพุทธศาสนาเป็นหลักการยึดเหนี่ยวจิตใจของกันและกันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ในการผูกมิตรไมตรีต่อกัน ผู้บริหารควรยึดเอาเป็นแนวทางในการบริหารงานในครอบครัวและในองค์กรที่รับผิดชอบอยู่หลักการนี้พระพุทธองค์ทรงรับรองหรือเป็นพุทธพจน์ที่ไม่มีความหมาย ๒ นัย หมายความว่าพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ไม่มีนัยเป็นอย่างอื่นจากที่ทรงพยากรณ์ไว้ ความสำเร็จของงานคือจุดหมายสูงสุดของการบริหาร การที่มีศัตรูเพียงหนึ่งคนก็ถือว่ามาก การที่เรารู้จักคนเพียงคนเดียวก็ถือว่าน้อยมาก  การที่จะไม่มีศัตรูและการที่จะรู้จักคนหลายคน มีหลักการและวิธีการที่พระพุทธองค์ได้วางไว้แล้วชื่อว่า หลักสังคหวัตถุ เป็นหลักคำสอนที่ให้ประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ผู้ปฏิบัติตามตั้งแต่อดีตเมื่อสองพันกว่าปีจนถึงปัจจุบันยังไม่มีทฤษฎีใดมาล้มล้างได้



























[๑] สำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอ้างใน http://www.space.mict.go.th/astronomer.php?name=galileo  (๒๓  สิงหาคม ๒๕๕๕).
[๒] สำนักงานกองทุนกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวิชาการดอทคอม, อ้างใน http://www.vcharkarn.com/varticle/40783  (๒๓  สิงหาคม ๒๕๕๕).
[๓] สำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, อ้างแล้ว.
[๔] สำนักงานกองทุนกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวิชาการดอทคอม, อ้างแล้ว.
[๕] สำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, อ้างแล้ว.
[๖] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์, พิมพ์ครั้งที่ ๑๖, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ บริษัท สหธรรมิก จำกัด, ๒๕๕๔), หน้า ๔๑๒.
[๗] องฺ.ทุก. (ไทย) ๒๐/๑๔๒/๑๒๐. ดูเพิ่มเติมใน พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๖), หน้า ๖๒. 
[๘] ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๓๐๕/๒๖๙.
[๙] องฺ.ปญฺจก. (บาลี) ๒๒/๓๕/๓๕, องฺ.ปญฺจก. (ไทย) ๒๒/๓๕/๕๖.
[๑๐] สํ.ส. (บาลี) ๑๕/๒๔๖/๑๕๘,  สํ.ส. (ไทย) ๑๕/๒๔๖/๓๕๓.อง.ปญฺจก. (ไทย) ๒๕/๑๘๙/๕๔๔.
[๑๑] พระพุทธโฆสเถระ, วิสุทธิมรรค, ภาค ๒, แปลโดย สภาวิชาการมหามกุฏราชวิทยาลัย.      วิสุทฺธิ. (ไทย) ๒/๖๘.
[๑๒] ดูรายละเอียดใน ขุ.ธ.อ. (ไทย) ๖/๒๐๕-๒๑๑.
[๑๓] http://www.gotomanager.com (๒๒  สิงหาคม ๒๕๕๕).
[๑๔] ขุ.ธ. (บาลี) ๒๕/๓๕๔/๓๕, ขุ.ธ. (ไทย) ๒๕/๓๕๔/๑๔๔. 
[๑๕] ขุ.ธ. (บาลี) ๒๕/๓/๘, ขุ.ธ. (ไทย) ๒๕/๓/ ๒๔.  
[๑๖] กลอนสุนทรภู่ รวมกลอนสุนทรภู่  อ้างใน http://www.zoneza.com (๒๓  สิงหาคม ๒๕๕๕).
[๑๗] ขุ.ชา.อ. (บาลี) ๑/๑๓๗-๑๓๙.  ขุ.ชา.อ. (ไทย) ๑/๕๐-๕๒.
[๑๘] http://th.wikipedia.org/wiki (๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๕)
[๑๙] วิ.ม.อ. (ไทย) ๑/๑๐๐.
[๒๐] พระภิกษุรูปนั้นชื่อว่า พระปูติคัตตติสสะ ดูรายละเอียดใน  ขุ.ธ.อ. (ไทย) ๒/๑๗๗-๑๘๐.
[๒๑] ดูรายละเอียดใน ขุ.อิติ. (ไทย) ๒๕/๑๙๑/๕๔๕.
[๒๒]  พระพรหมโมลี (วิลาส  ญาณวโร ป.ธ. ๙), วิมุตติรตนมาลี, อ้างใน เว็บบล็อกบ้านพี่พลอย, http://bannpeeploy.exteen.com/ (๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๕).